ยูนิคอร์น “แฟลช”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยูนิคอร์น “แฟลช”

Date Time: 8 มิ.ย. 2564 05:05 น.

Summary

  • สร้างกระแสครึกโครมเป็นอย่างมาก เมื่อแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจร ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการระดมทุนในรอบซีรีส์ E มูลค่า 150 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ หรือราว 4,700 ล้านบาท

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

สร้างกระแสครึกโครมเป็นอย่างมาก เมื่อแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจร ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการระดมทุนในรอบซีรีส์ E มูลค่า 150 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ หรือราว 4,700 ล้านบาทไปหมาดๆ กลายเป็นสตาร์ตอัพไทยรายแรกที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1,000 ล้านเหรียญฯ หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาท คว้าตำแหน่งสตาร์ตอัพยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทยไปครอง

แฟลช ซึ่งก่อตั้งโดยคมสันต์ ลี วัย 30 ปี ใช้เวลาเพียง 3 ปี จ่อประชิดหายใจรดต้นคอผู้ให้บริการรุ่นคุณปู่อย่างบริษัทไปรษณีย์ไทย และรุ่นคุณพี่อย่าง Kerry ด้วยกลยุทธ์ถล่มราคา คิดค่าส่งต่ำสุด 9 บาท (ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์) แถมให้บริการครบครัน 7 วันไม่มีหยุด นอกเหนือจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการใหม่ๆเพื่อซื้อใจลูกค้า เช่น นโยบายเข้ารับพัสดุฟรีถึงหน้าบ้านตั้งแต่ชิ้นแรก (Door to door service) ตลอด 365 วัน ไม่บวกเพิ่ม ไม่มีขั้นต่ำ และไม่มีวันหยุด หรือการคิดราคาแบบใหม่ ส่งเบาได้ชิ้นใหญ่ขึ้นเป็นต้น

คมสันต์ ลี
คมสันต์ ลี

ในเวลาไม่นาน แฟลชจึงฮิตติดลมบน นอกจากในมุมผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนรายใหญ่ทั้งไทยและเทศ เล็งเห็นถึงศักยภาพอัดฉีดเงินเข้ามาร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่ม ปตท. กรุงศรีกรุ๊ป กลุ่มกระทิงแดง ตลอดจนกลุ่มทุนใหญ่จากจีนและสิงคโปร์ จนแฟลชทะยานสู่การเป็นยูนิคอร์นไทยรายแรก

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มส่งอาหาร “โรบินฮู้ด” ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ พูดถึง “คมสันต์” ว่า เป็นคนทำสตาร์ตอัพที่แตกต่าง แหวกแนวกว่าสตาร์ตอัพไทยอื่นๆที่เคยรู้จัก เป็นสไตล์ “เสื่อผืนหมอนใบ” เหมือนเจ้าสัวยุคก่อนที่โล้สำเภามาจากเมืองจีน เมื่อได้พูดคุย รู้สึกถึงความเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน

“คมสันต์ เป็นสตาร์ตอัพสายตะลุมบอน คำนี้เป็นคำของ คุณสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งผมเห็นด้วยยิ่ง เขาเป็นคนที่มีต้นทุนติดลบ มีเชื้อสายจีน เกิดเชียงราย ย้ายไปเรียนหนังสือลำปาง”

“ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ คมสันต์เป็นสตาร์ตอัพสายจีนที่อึด ถึก ลุย ทำงานอย่างบ้าคลั่ง อย่างโหด ไม่เน้นพูด ไม่เน้นพีอาร์ แต่มีเป้าหมายทำให้สำเร็จ ขณะที่สตาร์ตอัพส่วนใหญ่ที่เห็น เป็นสายซิลิคอนวัลเล่ย์ เป็นเด็กรวย จบนอก พอมีไอเดีย มีเทคโนโลยี มีคนเอาเงินมาลงทุน ก็จะต้องเอาไปเนรมิตออฟฟิศให้ดูหรูหราเป็นสิ่งแรกๆ”

ธนา เธียรอัจฉริยะ
ธนา เธียรอัจฉริยะ

ธนา บอกว่า วิถีของคมสันต์จะเป็นตัวอย่างนำทางให้สตาร์ตอัพไทยรายอื่นที่กำลังจะหมดแรงจากความพยายามในการหาคำตอบ ให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง ทำให้สตาร์ตอัพไทยปักหมุดในแผนที่โลกได้สำเร็จ

“ที่สำคัญ คมสันต์น่าจะเป็นตัวอย่างของชีวิตสตาร์ตอัพจริงๆ โดยเฉพาะสตาร์ตอัพไทยที่ด้อยกว่าประเทศอื่นในหลายเรื่องเป็นภาพที่ไม่ได้สวยหรู แต่ต้องแลกมากับความเสี่ยงสูง การทำงานหนักกว่า (รหัสทำงานคือ 997 เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่มเจ็ดวันไม่หยุด) การเห็นและเข้าใจในคอนเนกชัน (การมีนักลงทุน รายใหญ่สนับสนุนอย่างกลุ่มอาลีบาบาจากประเทศจีน) และการหาทีมระดับโอลิมปิกมาทำงานด้วยกัน”

ด้านณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือหมู ผู้ก่อตั้ง Ookbee ในฐานะผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks บอกว่า ความสำเร็จ
ของแฟลช น่าจะมาจากตัว ผู้ก่อตั้ง ซึ่งก็คือคมสันต์เป็นหลัก

“การเริ่มต้นเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มันโตคือการเริ่มต้นที่ชาญฉลาด เราเห็นกรณีศึกษาจากทั่วโลก สตาร์ตอัพที่เติบโตได้ส่วนใหญ่จะอยู่ในสายอี-คอมเมิร์ซ ฟู้ดดีลิเวอรี ขนส่ง รวมทั้งโลจิสติกส์ แฟลชถือว่าเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น”

ปัจจัยถัดมาคือการมีคอนเนกชัน มีแบ็กอัพที่ดี กรณีของแฟลชมีนักลงทุนจีนหนุนหลังอยู่ ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี สามารถดึงคนเก่งๆเข้ามาร่วมทีมได้ เมื่อทุกอย่างประกอบกัน แฟลชจึงสามารถก้าวไปสู่การเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทย

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์

นอกจากตลาดสตาร์ตอัพที่น่าจะตื่นตัวมากขึ้นแล้ว ในมุมของนักลงทุน ก็คงจะคึกคักขึ้นเช่นกัน เราจะเห็นนักลงทุนแบบ Coperate Venture Capital (CVC) เพิ่มขึ้น อย่างไร ก็ตามกฎระเบียบของภาครัฐ มีความจำเป็นต้องผ่อนปรน
โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายภาษี แต่แค่ทำให้ได้อย่างสิงคโปร์คงไม่พอ ต้องดีกว่า เพราะปัจจุบันสิงคโปร์คือฮับของสตาร์ตอัพ มีนโยบายผ่อนปรนภาษีเป็นเครื่องจูงใจ สตาร์ตอัพไทยจึงอยากไปตั้งรกรากที่สิงคโปร์ทั้งนั้น

“หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เขามียูนิคอร์นกันไปหลายประเทศแล้ว ความสำเร็จของแฟลชเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามีคนไทยที่ทำได้ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม หากตั้งใจ แต่ภาครัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังเสียที”

เขาปิดท้ายว่า ยังมีโอกาสที่สตาร์ตอัพไทยในระดับรองๆจะก้าวขึ้นไปสู่การเป็นยูนิคอร์นตัวต่อๆไป แต่คงต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น Pomelo, Omise, Wongnai, Bitkup และ Finnomena.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ