บ้านปูเผยแนวคิดจาก 10 ทีม BC4C ร่วมเปลี่ยนสังคมสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

บ้านปูเผยแนวคิดจาก 10 ทีม BC4C ร่วมเปลี่ยนสังคมสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรม

Date Time: 30 พ.ค. 2564 19:00 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • บ้านปูหนุนโครงการ Banpu Champions for Change เผย 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ เน้นแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรม พร้อมสร้างเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

Latest


บ้านปูหนุนโครงการ Banpu Champions for Change เผย 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ เน้นแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรม พร้อมสร้างเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย - สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion จัดทำโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C ต่อเนื่องกันมาจนถึงรุ่นที่ 10 ล่าสุดมี 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบต่างนำเสนอแผนธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมด้วยไอเดียและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์

ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบของสากล (Sustainable Development Goals: SDGs) ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา (Quality Education) การสร้างงานสร้างรายได้ (Decent Work and Economic Growth)

รวมไปถึงการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) โดยสะท้อนออกมาจากการนำเสนอประเด็นที่แต่ละกิจการมุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจุดเด่นของ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบในปีนี้ คือ การนำวิธีคิดเชิงนวัตกรรม และแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเพิ่มศักยภาพธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ประเด็นปัญหาสังคมที่หลากหลาย ได้แก่

ด้านสิ่งแวดล้อม

- Food Loss Food Waste ธุรกิจที่ต่อยอดการจัดการขยะในชุมชนมาสู่การพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ โดยใช้หนอนและแมลงเป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปุ๋ย และอาหารสัตว์ เพื่อลดการฝังกลบขยะอินทรีย์และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

- Banana Land ธุรกิจที่ตั้งใจจะพัฒนาชุมชนในตำบลภูหอ จังหวัดเลย ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้ผ่านการจัดทริปที่พร้อมจะพาไปเรียนรู้วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนในชุมชน ตั้งแต่การทอผ้าฝ้าย บวชป่า ทำสปา ไปจนถึงการรับประทานอาหารที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกของชุมชน เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชน

- Reviv ธุรกิจให้บริการซ่อมและปรับแต่งเสื้อผ้าออนไลน์ที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยั่งยืนได้บนพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมมือกับแรงงานนอกระบบที่มีทักษะฝีมือในการซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่าให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง รวมถึงนำเสื้อเก่ามาปรับโฉมใหม่ด้วยสารพัดเทคนิค เพื่อชะลอการบริโภคสินค้าแฟชั่น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

ด้านการพัฒนาอาชีพ

- Rosecare แพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวบรวมข้อมูลและให้บริการจัดหาผู้รับจ้างทำงานบ้าน เพื่อช่วยลดปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม พร้อมกับคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง

- Anywhere Work ธุรกิจที่มุ่งสร้างอาชีพและพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับกลุ่มแรงงานเปราะบาง เพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เช่น การแปลงเอกสารเป็นไฟล์ดิจิทัล และการคีย์ข้อมูลให้ระบบ AI จดจำและเรียนรู้สิ่งต่างๆ

ด้านการศึกษา

- Hmong Cyber ธุรกิจที่ต่อยอดจากโครงการพัฒนาทักษะของเยาวชนชาวม้งในหมู่บ้านน้ำจวง มาสู่การพัฒนาชุมชนที่พึ่งพาตนเองและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและงานเทศกาล โดยใช้แอปพลิเคชันจองทัวร์และหาที่พักเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเข้ากับคนในชุมชน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างยั่งยืน

- insKru แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการประเมินคุณภาพของครู ที่ให้ความสำคัญกับ ‘เสียง’ ของนักเรียนเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นมิตรกับทั้งครูและนักเรียน โดยมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลและแนะนำเนื้อหาหลักสูตรเพื่อให้ครูนำไปปรับใช้ในการสอนได้อย่างเหมาะสม พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Active Learning)

- แพลตฟอร์ม "โตแล้วไปไหน?" ระบบการเรียนรู้และพัฒนาตนเองที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ได้วิเคราะห์และทำความรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ความต้องการ ความถนัด ความชอบ และข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงได้ทำกิจกรรมทดสอบเลือกเส้นทางต่างๆ ผ่าน VDO Call เพื่อเพิ่มทักษะการตัดสินใจให้นักเรียนสามารถเลือกเส้นทางที่เหมาะกับตนเองในอนาคตได้อย่างมั่นใจ

ด้านสุขภาพ

- HATO แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้คนที่มีความเครียดได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกร่วมกัน รวมถึงให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความเครียด โดยมีเป้าหมายคือการสร้างสังคมที่เข้าใจความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงให้กำลังใจคนที่เผชิญกับภาวะความเครียดและปัญหาทางจิตใจ

ด้านการเกษตร

- นานาญ ธุรกิจที่คิดค้นพัฒนานวัตกรรมกับดักแมลงโซลาร์เซลล์อัตโนมัติ ที่สามารถใช้กำจัดแมลงได้ด้วยการติดตั้งบริเวณแปลงเพาะปลูก เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลด ละ เลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion กล่าวว่า โครงการ BC4C ได้เดินทางมาถึงหนึ่งทศวรรษแล้ว BC4C รุ่นที่ 10 ต้องเจอกับความท้าทายมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

อีกทั้งเป็นจังหวะที่ยากสำหรับการทำธุรกิจใหม่ แต่พวกเขามีรุ่นพี่ BC4C ที่พร้อมให้คำแนะนำ ช่วยให้เข้าใจปัญหาและมองเห็นโอกาสการเติบโตในอนาคต โครงการนี้ยังสร้างระบบนิเวศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปด้วยกัน

ทั้ง 10 ทีมจะได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปบ่มเพาะทักษะสุดเข้มข้น และลงมือทำธุรกิจจริงตลอดระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่โครงการฯ คัดเลือกเพียง 5 ทีมชนะเลิศในเดือนสิงหาคม 2564 โดยทีมชนะเลิศทั้งหมดจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมรวม 1.25 ล้านบาท เพื่อนำไปสานต่อกิจการเพื่อสังคมให้บรรลุเป้าหมาย มาลุ้นกันว่ากิจการเพื่อสังคมทีมไหนจะสามารถปั้นกิจการให้เติบโตไปพร้อมๆ กับสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมได้อย่างยั่งยืน และคว้าชัยชนะไปในที่สุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์