เถ้าแก่น้อย โชว์กำไรสุทธิไตรมาส 1/64 ที่ 55.9 ล้านบาท ฟื้นตัวจากไตรมาส 4/63 ได้ชานมไต้หวัน Just Drink ปั๊มยอด พร้อมคุมต้นทุนได้ดี เล็งหาสินค้าอื่นแทนสาหร่าย
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 64 นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/64 ว่า แม้ภาพรวมจะชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของ 2563 แต่ฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 ก่อนหน้า โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 919.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาส 4/63 โดยรายได้จากตลาดในประเทศอยู่ที่ 388.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.7% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามากดดัน
อย่างไรก็ตาม TKN สามารถสร้างการเติบโตจากการขยายตลาดของสินค้าใหม่ ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์รสชานมจัสท์ ดริ้งค์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค และสามารถกระจายสินค้ามากขึ้นในช่องทางร้านสะดวกซื้อเป็น 12,000 สาขา ณ ปลายเดือนมี.ค. 64 จากเดิมที่มี 6,000 สาขา ณ ปลายปี 2563 สามารถชดเชยยอดขายจากตลาดต่างประเทศบางส่วนที่ชะลอตัว สำหรับตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศหลัก มียอดขายลดลงและได้รับผลกระทบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เตรียมปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อเจาะตลาดจีนให้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 55.9 ล้านบาท ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนสุทธิ 20.9 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการต้นทุนทั้งด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้มีต้นทุนการจัดจำหน่ายในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 97.9 ล้านบาท ลดลง 14.3% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า โดยบริษัทฯ ยังคงปรับการใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายขายและการตลาดให้สัมพันธ์กับยอดขายและเป็นไปตามสถานการณ์ และมุ่งเน้นจัดกิจกรรมที่สร้างผลลัพธ์โดยตรงกับการขายในช่องทางที่มีศักยภาพการเติบโต
นายอิทธิพัทธ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 64 นี้เราคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยบริษัทฯ เตรียมแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (NPD) เพื่อเพิ่มยอดขายนอกจากกลุ่มสาหร่าย (Non-Seaweed) คาดว่าจะมีการออกผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ จัสท์ ดริ้งค์ รสชาติใหม่ในเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งอยู่ระหว่างร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant-Based และศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชง ส่วนตลาดต่างประเทศคาดว่าจะเห็นการสั่งสินค้าจากเอเย่นต์เพิ่มขึ้นและปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลงในครึ่งปีหลัง
"เรามุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุน ราคาวัตถุดิบ (สาหร่าย) ต้นทุนการผลิตระยะยาว เพื่อรักษาอัตรากำไรขั้นต้น พร้อมทั้งรักษากระแสเงินสดเพื่อปันผลให้ผู้ถือหุ้นต่อเนื่อง และเพียงพอสำหรับแผนขยายการลงทุนในอนาคต".