ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะวันนี้ การบินไทย จะเริ่มเข้าสู่ กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกหมู่ออกจ่า แผนฟื้นฟูการบินไทยเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อโหวตแผนฟื้นฟู โดยมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง
ในเวลาเดียวกัน มีข่าวกระทรวงการคลัง ได้มีการผลักดันที่จะให้ การบินไทย กลับเข้ามาเป็น รัฐวิสาหกิจ อีกรอบ ซึ่ง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แบ่งรับแบ่งสู้ อ้างว่ายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ และ ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ด้วย ก็แปลว่า การนำการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี การบินไทย ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ออกมาระบุว่า การบินไทยไม่เคยหารือเรื่องขอกลับเข้าเป็นรัฐวิสาหกิจ มีแต่เรื่องการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายที่เสนอให้ ศาลล้มละลายกลาง ไปแล้ว ซึ่งศาลล้มละลายจะรับหรือไม่รับแผนฟื้นฟูการบินไทยในวันที่ 28 พ.ค.นี้
ปัญหาก็คือว่า ถ้าการบินไทยกลับเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกรอบ ต้องมีการชั่งน้ำหนักให้รอบคอบ ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเต็มรูปแบบอาจจะเป็นหลักประกันที่ดีขึ้น มีเรื่องสิทธิประโยชน์ระหว่างประเทศ แต่การบริหารจัดการก็จะไม่เป็นอิสระ ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินค่อนข้างจะสูงมากในปัจจุบันและอนาคตจาก วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
สิ่งที่จะละเลยไม่ได้คือ เรื่องของผลประโยชน์ ทั้งผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลและผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับมากหรือน้อย เกินพอดีหรือไม่ นอกจากนี้ ถ้าการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐ จะต้องรับผิดชอบที่จะเข้าไปอุ้มเต็มตัว ในสภาพแบบนี้ รัฐจะไหวหรือ เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบให้ชัดเจน
เป็นดาบสองคมที่ต้องระวังจะทำให้เกิดวิกฤติซ้ำซ้อน
ปัญหาของการบินไทยไม่ใช่จบที่ แผนธุรกิจ หรือ การประกอบธุรกิจ แต่มีทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่ที่จะต้องได้รับ การสะสางให้อยู่ในกรอบของนโยบายอย่างเคร่งครัด และขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ด้วยว่าจะเห็นชอบกับแผนการฟื้นฟูที่เสนอไปหรือไม่
ดังนั้น การที่จะ ฟื้นฟูการบินไทย จึงไม่ใช่อยู่ที่ ปลายน้ำ แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ เริ่มจากนโยบายต้องชัดเจน ผลประโยชน์ตอบแทนต้องเป็นเหตุเป็นผล ปัญหาในอดีตต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ทั้งเรื่องของ คน เรื่องของ ระบบ และ การทุจริตคอร์รัปชัน
อย่าลืมว่า อุตสาหกรรมการบิน ต่อจากนี้ไปไม่ใช่หมูๆ หรือจะกินแต่ต้นทุนเก่า ต้องพร้อมที่จะแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ และต้องยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ถ้าเริ่มจากการวางแผนฟื้นฟูการบินไทยที่เต็มไปด้วยอคติ ของผู้มีอำนาจหรือคนที่ผู้นำให้ความไว้วางใจ การบินไทยสายการบินแห่งชาติก็คงกลายเป็นแค่สัญลักษณ์ในตอนจบ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th