ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (5 พ.ค.) ได้ใช้เวลาการประชุมนานเป็นพิเศษจนถึงเวลา 14 .00 น. โดยที่ประชุมได้ให้น้ำหนักการหารือกรณีกระทรวงการคลังเสนอแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ ครม.รับทราบ ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เสนอให้ดึงการบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า การกลับเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจจะช่วยให้การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ สามารถฟื้นฟูกิจการได้ตามแผน และการที่มีกระทรวงคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจ และอำนาจในการต่อรองกับเจ้าหนี้ได้ และต้องรีบดำเนินการเพราะขณะนี้ใกล้เวลาที่จะถึงวันประชุมผู้ถือหุ้นที่ต้องมีวาระลงมติรับแผนฟื้นฟูของบริษัท วันที่ 12 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ จากการเสนอแนวคิดนี้ ทำให้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยของรัฐมนตรีหลายคนว่า หากให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง ภาครัฐต้องมีคำตอบให้กับประชาชน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ครม.ได้ให้การบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว และการกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลต้องค้ำประกันหนี้ของการบินไทย ซึ่งมีอยู่หลายแสนล้านบาท และต้องนับรวมหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สาธารณะ ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งข้อสังเกตว่าต้องใส่เงินไปเท่าไหร่ และหากยังไม่จบก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และได้ขอตัวเลขจากกระทรวงคลังให้ตอบชัดๆว่า ต้องใส่อีกกี่ครั้ง ครั้งละกี่บาท ถึงจะจบ
ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ตั้งข้อสังเกตในลักษณะเดียวกันว่าจะต้องนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาของการบินไทย แล้วปัญหาก็ยังมีต่อไปเรื่อยๆ ทำไมไม่ทำตามแผนฟื้นฟู แบ่งบิสซิเนสยูนิตแยกออกมา แล้วมาจัดการใหม่
ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ มีท่าทีลักษณะเดียวกันคือ ขณะนี้รัฐบาลประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ระลอก 3 ต้องใช้งบ ประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ไขเยียวยา การนำงบไปทุ่มให้กับการบินไทยอาจจะไม่เหมาะสม สุดท้ายประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้กระทรวงคลังรับปากว่าจะไปทำตัวเลขทั้งหมด มาเสนอ ครม.อีกครั้ง ว่าจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดเท่าไหร่ มีแผนงานอย่างไร.