สำรวจตลาดสี่มุมเมือง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว พริกซุปเปอร์ฮอต ขายดียอดไม่เคยตก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สำรวจตลาดสี่มุมเมือง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว พริกซุปเปอร์ฮอต ขายดียอดไม่เคยตก

Date Time: 29 มี.ค. 2564 09:54 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะขายได้ช้าลง และขายได้ในราคาที่ต่ำลง แน่นอนว่ารายได้พวกเขาก็จะลดลงไปด้วย

Latest


  • ปี 2564 คนไทยจะได้ทานมะม่วงสวยและอร่อยเป็นพิเศษ เพราะไม่มีล้งตัดเกรดส่งออก
  • กะหล่ำปลี ผักกาดขาว เป็นผักคู่ครัวคนไทย ยอดขายไม่เคยตก
  • โควิดระบาดระลอก 2 ทำยอดขายตก 60%
  • ยอดขายพริกซุปเปอร์ฮอต ร้อนแรงเกินต้านจนผลผลิตในไทยไม่พอ ต้องออเดอร์จากนอก


เศรษฐินีศรีราชา 
มีโอกาสแวะไปทักทายบรรดาพ่อค้า แม่ค้า ที่ตลาดสี่มุมเมือง เพื่อสำรวจแผงผัก ผลไม้ หลังมีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยจะตามไปดูวิถีพ่อค้าแม่ค้า และเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะหลายๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "โควิดรอบนี้หนักกว่ารอบแรกจริงๆ"

เศรษฐินีศรีราชา เริ่มต้นด้วยการแวะที่ร้านของเจ๊จันนิภา แก่นแก้ว เจ้าของแผงอ้วน-ลอย ร้านขายผลไม้ตามฤดูกาล บอกว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของมะม่วง ก็จะเห็นมะม่วงเต็มไปหมด ซึ่งโควิด-19 ที่ผ่านมา ร้านก็ได้รับผลกระทบ เพราะช่วงล็อกดาวน์ผลไม้ที่จะต้องส่งโรงแรมก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังโชคดีที่ยังขายส่งให้ห้างสรรพสินค้า และพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปได้บ้าง

สำหรับปี 2564 มะม่วงล้นตลาดพอสมควร ออเดอร์ที่ส่งออกก็มีส่วน แต่เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงต้องเจอตอนนี้คือ คนเข้าไปซื้อผลไม้ในสวนน้อยมาก เราเองก็ต้องไปช่วยเกษตรกรระบายของออกมา ไม่เช่นนั้นก็จะเน่าเสียหมด

"ตอนนี้คนเข้าไปซื้อหน้าสวนน้อยมาก ไม่เหมือนตอนส่งออก ล้งจะมีรถไปรับผลไม้ถึงที่ แต่พอส่งออกไม่ได้ ก็มาตันอยู่ที่พ่อค้าคนกลางอย่างเรา พอคนสวนไม่มีที่ระบายเราก็ต้องช่วย และปีนี้มะม่วงถูกมาก เพราะผลผลิตเยอะ ปีนี้คนไทยจะได้กินมะม่วงที่สวยและอร่อย เพราะว่าไม่มีล้งหรือคนมาตัดเกรดส่งออก"

ที่สำคัญปีนี้มะม่วงน้ำดอกไม้ และมะม่วงต่างๆ ที่รับซื้อหน้าสวนถูกมาก เช่นปีที่แล้ว รับซื้อหน้าส่วนที่กิโลกรัมละ 30 บาท แต่ปีนี้โดยเฉพาะเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลงมาอยู่แค่กิโลกรัมละ 10 บาท ราคาลดลงถึง 20 เปอร์เซนต์ แม้จะรับซื้อมาถูก ก็ไม่ได้ขายแพง มีเท่าไรก็รับซื้อหมดเพราะต้องการช่วยชาวสวนระบายสินค้า มะม่วงน้ำดอกไม้ส่วนใหญ่ที่เห็นจะรับมากจากพิษณุโลกบ้าง สระแก้วบ้าง

จากนั้นก็แวะไปชวน เฮียชัย และ เจ๊ทิพย์ เจ้าของแผงลุ้ย หรือผักกาดขาว และกะหล่ำปลี ซึ่งขายผักแค่ 2 ชนิดตลอดทั้งปี ทำให้เราสงสัยว่าเขาไปหาผักกาดขาว และกะหล่ำปลีมาขายทั้งปีได้อย่างไร ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า ปกติผักพวกนี้จะมาจากภาคเหนือ เชียงใหม่บ้าง แม่ฮ่องสอนบ้าง เพราะช่วงนี้ มี.ค.-เม.ย.เป็นหน้าของเขา แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะหาจากขอนแก่นบ้าง คือ เราก็ต้องหาผักพวกนี้มาเติมอยู่เรื่อยๆ

ถ้าถามว่าช่วงไหนกะหล่ำปลีราคาแพง ก็คิดว่าน่าจะช่วงฤดูฝน เพราะช่วงนั้นผลผลิตไม่สวย และที่สำคัญจะหาสวยๆ คือยากมาก จากเกษตรกรที่ปลูกได้ไร่ละ 5 ตัน ก็เหลือแค่ 3 ตันเท่านั้น

เฮียชัย บอกอีกว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะมีลูกค้าค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า โรงแรมก็มีบ้าง ที่สำคัญเลย แม่ค้าพ่อค้ารายย่อย เช่น รถกับข้าว หรือ รถพุ่มพ่วง ที่สำคัญ ผักสองชนิดนี้ขายดีตลอดทั้งปี เพราะเป็นผักที่ครัวขาดไม่ได้ ต้องมีติดบ้านอยู่ตลอด เรียกได้ว่าเป็นผักคู่ครัวคนไทยเลยทีเดียว

"ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ผมเน้นมาตรฐานการดูแลลูกค้า เช่น ลูกค้าบอกว่าอยากได้กะหล่ำปลีไซส์นี้ กี่กิโลกรัม ตัดแต่งอย่างไร แค่จ่ายเงินและบอกทะเบียนรถ ผมก็จะให้ลูกน้องไปส่งให้ถึงที่เลย อีกอย่าง ถ้าตลาดสะอาดสะอ้าน มีที่จอดรถเป็นระเบียบ ใครๆ ก็อยากมาซื้อ อย่างผม ขายที่นี่มา 24 ปี พอตลาดสี่มุมเมืองปรับปรุงใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50%"

เฮียชัยบอกอีกว่า ร้านเราเปิดตลอด 24 ชั่วโมง แทบไม่มีวันหยุด ยอดขายกะหล่ำปลีและผักกาดขาวรวมๆ กันก็ประมาณ 10 ตันขึ้นไป ส่วนใหญ่เส้นทางของผักพวกนี้จะถูกส่งไปกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ถ้าถามว่าผักสองอย่างนี้มีช่วงเวลาที่ราคาถูกไหม ก็ต้องมีเป็นธรรมดา ซึ่งเกษตรกรบางรายก็เลือกที่จะไม่ตัดขาย แต่ปล่อยทิ้งเอาไว้ก็มี เพราะคิดว่าถ้าตัดมาขายก็ไม่คุ้มค่ารถและค่าขนส่งในแต่ละครั้ง เช่น จากเชียงใหม่มาขายที่กรุงเทพฯ ใช้รถขน 6 ล้อก็ตกเที่ยวละ 9,000-10,000 บาท ในขณะที่ราคารับซื้อหน้าสวนไม่เกินกิโลกรัมละ 3 บาท

บางคนแบกรับไม่ไหวก็ต้องปล่อยทิ้งให้เน่า และจังหวะนั้น อาจจะไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อ แต่ช่วงเวลากะหล่ำปลีแพงก็มีกิโลกรัมละ 80-100 บาทก็มีมาแล้ว แต่อย่างที่เคยบอก คนก็ซื้อเพราะเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร

โควิดรอบ 2 ทำยอดขายตก 60%

พ่อค้าสุดชิคที่ขายต้นหอม ผักชีลาว ผักชีใบเลื่อย และตั้งโอ๋ บอกกับ "เศรษฐินีศรีราชา" ว่า ของส่วนใหญ่มาจากพิษณุโลก บางส่วนปลูกเอง บางส่วนรับมาจากคนในหมู่บ้านเดียวกัน พอขากลับจากพิษณุโลก ก็จะรับของจากตลาดสี่มุมเมืองกลับไปขายที่บ้านด้วย

ส่วนช่วงโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน จากที่เคยขายต้นหอมได้วันละ 500 – 600 มัด ตอนนี้เหลือ 200 – 300 มัด เรียกได้ว่า หายไปครึ่งหนึ่งเลย เราเองก็ต้องลดปริมาณของที่รับมา ถ้าเรารับมาเยอะ เราก็ขาดทุนเยอะ ก็พยายามเอามาขายให้หมดภายในวันนี้

"แม้จะมีลูกค้ามาทุกวัน แต่กำลังซื้อเขาน้อยลง จากเดิมที่เคยใช้ 10 กิโลกรัม แต่วันนี้ซื้อแค่ 3-5 กิโลกรัม บางคนจากที่เคยมาทุกวันกลายเป็นมาแค่วันเว้นวัน ส่วนลูกค้าประจำคือซื้อไปขายตลาดนัดบ้าง รถเร่ และขายแผงตามข้างนอก เอาตรงๆ นะ โควิดรอบ 2 เนี่ยกระทบเราสุดๆ ยอดขายรอบนี้ตกไปประมาณถึง 60% เราก็ต้องปรับตัวด้วยการลดรายจ่ายลง ประหยัดเงินเอา"

ยอดขายพริกไม่เคยตก แม้มีโควิด

พี่สาวคนสวยจากร้านตี๋เล็ก พริกสด เล่าว่า โควิด-19 ทำอะไรพริกไม่ได้เลย เพราะว่าพริกเผ็ด และพอจะต้านพวกไข้หวัด หรือพวกเชื้อไวรัสได้บ้าง เพราะว่ามันร้อน เราเอามาประมาณ 300 ถุงต่อวัน ก็ขายหมด เรารับมาจากเกษตรกรเลย ซึ่งพริกพันธุ์ซุปเปอร์ฮอต ที่ขายอยู่นี้เก็บได้นาน และหากปลูกในไทยก็จะเก็บได้นานที่สุดด้วย ถ้าเทียบกับพริกซุปเปอร์ฮอต ที่นำเข้าจากจีน เมียนมา และกัมพูชา

ส่วนที่ขายอยู่นี่ ก็เป็นพันธุ์ซุปเปอร์ฮอตที่ปลูกในจังหวัดอุบลราชธานี รสชาติเผ็ด เอาไปทำได้ทุกอย่างเลย ตำส้มตำก็ได้ เม็ดจะอวบๆ แข็งๆ ตอนนี้ขายกิโลละ 25 บาท ช่วงที่พริกแพงๆ เลยเป็นเพราะพริกที่ปลูกในเมียนมาและกัมพูชาไม่เข้า เลยทำให้ของขาดตลาด เพราะจริงๆ แล้ว พริกในไทยเมืองไทยบริโภคไม่เพียงพอ วันนึงขายได้ประมาณ 3-4 ตัน หรือประมาณ 3-4 พันกิโล ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนตัด หรือคนที่มาขายของแบบเราเขาก็จะรับเอาไปขายต่อ และก็ขาจร เราขายทุกวันไม่หยุดเลย

สุดท้ายก่อนเดินทางออกจากตลาดสี่มุมเมือง "เศรษฐินีศรีราชา" ได้พบ ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการตลาดสี่มุมเมือง เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่มีโควิด-19 ก็ทำให้คนไม่อยากมาเดินตลาด ไม่ใช่แค่ตลาดสี่มุมเมือง แต่เป็นเกือบทุกตลาดในประเทศไทย แต่ปรากฏว่าผัก ผลไม้ ที่เกษตรกรปลูกขายก็ยังมีเท่าเดิม โจทย์ของเรา คือ จะทำยังไงให้คนกลับมาเดินตลาด

ที่ผ่านมา พ่อค้าแม่ค้า ขายสินค้าหมดทุกวัน แต่อาจจะขายในราคาที่ต่ำลง พอโควิดเริ่มจาง ผู้ซื้อเริ่มกลับมาเดินเหมือนเดิม แต่ไม่ได้ซื้อในปริมาณมากเท่ากับสถานการณ์ปกติ ที่ผ่านมา ผู้ซื้อสินค้าเกษตรในตลาดของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ซื้อขาประจำที่มาทุกวัน เพราะเขารู้ว่าที่นี่ปลอดภัย แต่ผู้ซื้อที่เป็นขาจรอาจจะชั่งใจเล็กน้อย เพราะเขามองไม่ออกว่าตลาดเป็นอย่างไร

"พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะขายได้ช้าลง และขายได้ในราคาที่ต่ำลง แน่นอนว่ารายได้พวกเขาก็จะลดลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนใช้เวลาไม่นานของก็ขายหมด แต่ตอนนี้ขายได้ช้าลงกว่าเดิม ลูกค้าที่มาซื้อ ก็ยังคงซื้ออยู่ แต่ซื้อในปริมาณที่น้อยลง เพราะว่ากำลังซื้อของคนน้อยลงมาก โควิดรอบแรกตลาดของเราแทบจะไม่กระทบเลย แต่โควิดระบาดระลอกใหม่นี้กระทบเยอะว่า แต่ว่าไม่เยอะเท่าตลาดอื่นๆ เพราะเราเป็นตลาดผักและผลไม้"

นอกจากนี้ ตลาดสี่มุมเมืองค่อนข้างโชคดีที่หลายปีก่อนเราจัดโซนขายของ และลงทุนทำพื้นที่ตลาดใหม่ เช่น การเว้นระยะห่างของแต่ละแผง การสร้างหลังคาสูงทำให้อากาศถ่ายเท รวมถึงการออกแบบเรื่องการจัดการของเสีย ทำให้พื้นในตลาดไม่มีแอ่งน้ำเฉอะแฉะ เพราะเราคำนึงถึงความสะอาดเป็นหลัก เหล่านี้จะช่วยเรื่องการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ได้ พอมีโควิด-19 เข้ามา เราก็ลงทุนในเรื่องสาธารณสุข ร่วมมือกับภาครัฐ ดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ เราได้แจกเจล จ้างคนมาเพิ่มในการวัดอุณหภูมิ ทำโควิดพาสสปอร์ต และตรวจเชิงรุกตลอด เราทำความสะอาด big cleaning ทุกวัน แล้วเราก็มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทุกวัน เราลงทุนกับตรงนี้เยอะ เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

"ที่ตลาดสี่มุมเมือง มีอาชีพหลากหลายมาก มีตั้งแต่เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่ขายต่อให้กับตลาดสดอื่นๆ มีคนตัดแต่ง และแพ็กของขึ้นรถ มีคนช่วยขนส่งผัก ซึ่งทุกคนล้วนแต่เป็นกำลังสำคัญในวงจรเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่เราได้ลงไปคุยก็จะได้ไอเดียอะไรใหม่ๆ กลับมา บางคนเริ่มจากศูนย์ แต่ตอนนี้ส่งลูกเรียนได้แล้ว บางคนติดหนี้นอกระบบ แต่ตอนนี้ออกจากวงหนี้ได้แล้ว บางคนเริ่มจากคนขับรถ ตอนนี้กลายเป็นผู้ส่งของรายใหญ่ให้กับระยอง ที่นี่มันไม่ใช่แค่ตลาด แต่เป็นหัวใจของผู้บริโภคทั้งประเทศ เป็นเมืองแห่งอาชีพ และเป็นเมืองแห่งโอกาส"


ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th 
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์