พาไปดูชีวิตมหาเศรษฐี "กักตัวบนเรือยอชต์" ต้นแบบการใช้ IoT ช่วยเศรษฐกิจไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พาไปดูชีวิตมหาเศรษฐี "กักตัวบนเรือยอชต์" ต้นแบบการใช้ IoT ช่วยเศรษฐกิจไทย

Date Time: 20 มี.ค. 2564 16:29 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • มีเรือเข้ามา Quarantine 27 ลำ มีนักท่องเที่ยวประมาณ 144 คนที่ขึ้นเกาะต่างๆ เงินหมุนเวียนในระบบมากกว่า 500-600 ล้านบาท

Latest


  • รู้จัก Digital Yacht Quarantine 
  • รายได้มหาศาลหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจภูเก็ต
  • ยกให้เป็น Use case ที่ผนวก IoT และ Smart City เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ

เศรษฐินีศรีราชา ปกติบ้านอยู่ทะเลอ่าวไทย แต่บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเยี่ยมเยียนทะเลอันดามัน ที่ภูเก็ต ซึ่งนับเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินครั้งแรกในรอบ 1 ปี หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 การไปภูเก็ตรอบนี้ บอกได้คำเดียวว่า เหงาตั้งแต่เท้าแตะสนามบิน และหวนนึกถึงภูเก็ตเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

เมื่อภูเก็ตเหงาไร้นักท่องเที่ยว แทบไม่ต้องถามเลยว่า เศรษฐกิจจะหมุนเวียนอย่างไรเพราะเม็ดเงินและรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ก็มาจากการท่องเที่ยวทั้งนั้น ประเด็นนี้เองจึงเป็นอีกที่มาของโครงการ Digital Yacht Quarantine หรือ การกักตัวบนเรือยอชต์  

เศรษฐินีศรีราชา ขอเล่าที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าวแบบย่อๆ แต่รู้เรื่อง เริ่มจาก โกดำ หรือไชยา ระพือพล ประธานกรรมการ บริษัท พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการเรือทัวร์ชื่อดังในจังหวัดภูเก็ตได้พูดคุยกับธนภัทร ทั่วไตรภพ กรรมการบริหาร บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ FLOWLOW ซึ่งเป็น Tech Startup อยู่ในภูเก็ต ทั้งคู่ได้พูดคุยกันหลังจากเกิดเหตุเรือฟีนิกซ์ ล่มเมื่อปี 2561 ว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรสามารถติดตามและแทร็กกิ้งนักท่องเที่ยวที่ลงเรือไปท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ รวมถึงการดูแลเรื่องประกันของนักท่องเที่ยว  

จากนั้นทั้ง 2 คน รวมถึงดีป้าก็ร่วมกันพัฒนาเตรียมพร้อมการใช้งานท่าเรืออัจฉริยะที่อ่าวปอ เมื่อปี 63 แต่ปราฏว่าโควิด-19 ระบาดเสียก่อน แม้ระบบเตรียมพร้อมใช้งาน 100% แต่มาวันนี้มีนักท่องเที่ยวแค่หลักหน่วยเท่านั้น ท่าเรืออัจฉริยะจึงต้องรอวันที่นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนเร็วๆ นี้

อ่านมาถึงตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วการพัฒนา Tech Startup ไม่ได้กระจุกตัวแค่ในเมืองเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังในตามต่างจังหวัด ซึ่งองค์กรภาครัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Depa ให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องของทุน และองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชน อันนี้ไม่ได้โปรโมต แต่ถ้าใครมีไอเดียดีๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ลองเข้าไปคุยกับ Depa ได้ ไม่ว่าโครงการคุณจะเล็ก หรือจะใหญ่เขาก็ให้คำปรึกษาหมด

เวลาต่อมาสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย ก็พยายามหาโซลูชั่นต่างๆ เพื่อให้คนในธุรกิจเรือยอชต์ และภาคส่วนต่างๆ ได้ทำงาน และมีรายได้จึงเป็นการพูดคุยกันในวงโดยมี โกดำ และธนภัทร ในนาม FLOWLOW, ดีป้า, POMO หากนึกไม่ออกก็ให้นึกถึงนาฬิกาป้องกันเด็กหาย และ AIS มาร่วมออกแบบ Digital Yacht Quarantine เมื่อโครงการสำเร็จรัฐบาลจึงให้ทำการทดลองเมื่อช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. 63 ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวที่กักตัวบนเรือยอชต์ประมาณ 27 ลำทำรายได้เข้าประเทศแล้ว 500-600 ล้านบาท

สำหรับการทำ Digital Yacht Quarantine จะเริ่มต้นดังนี้

เมื่อมีนักท่องเที่ยวประสานเดินทางเข้ามาทางเรือ สมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จะเป็นตัวแทนประสานงานกับหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคในครั้งแรก จากนั้นจะให้นักท่องเที่ยวสวมสายรัดข้อมืออัจฉริยะ หรือ NB-IoT Wristband Tourist Tracking ที่จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละคนตลอด 14 วันของการกักตัวเข้ามาที่ Dash Board ณ ที่ทำการท่าเทียบเรืออ่าวปอ

ธนภัทร ทั่วไตรภพ
ธนภัทร ทั่วไตรภพ

โดยสายรัดข้อมืออัจฉริยะที่ว่านี้ ถูกพัฒนาโดยบริษัทคนไทยนั่นก็คือ POMO ที่จะมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ที่แพตฟอร์มของ FLOWLOW

หลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป

มาถึงตรงนี้หลายคนก็สงสัยอีกต้องใช้สัญญาณ คือ คลื่นแบบไหนในการส่ง Data ซึ่ง AIS ได้เลือก Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT บนคลื่น 900 MHz ที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร ที่มาพร้อม Cloud ในการเก็บข้อมูลนั่นเอง

ตัญญุตา สิงห์มณี
ตัญญุตา สิงห์มณี

รายได้มหาศาลหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจภูเก็ต

หลายคนอาจสงสัยเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวที่มากักตัวบนเรือยอชต์จะถึงมือชาวบ้านร้านตลาดจริงหรือ ซึ่ง ตัญญุตา สิงห์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอชท์ จำกัด ตัวแทนสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย หรือ TYBA ตอบเราว่า คุณรู้ไหมแค่ส่งอาหารให้กับนักท่องเที่ยวบนเรือยอชต์ 1 ลำ ก็ประมาณ 8 แสนบาทแล้ว Quarantine 1 ครั้ง การส่งอาหารทำได้ถึง 3 รอบก็รวมๆ แล้ว 24 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมกับออเดอร์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ และไม่รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องจ่ายเช่น ค่าเช่าจอดเรือ ค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น 

"ส่วนใหญ่บนเรือยอชต์จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 4-8 คนแล้ว แต่ขนาดของเรือ ช่วงทดลอง 3 เดือนแรกมีเรือเข้ามา Quarantine 27 ลำ มีนักท่องเที่ยวประมาณ 144 คนที่ขึ้นเกาะต่างๆ เงินหมุนเวียนในระบบมากกว่า 500-600 ล้านบาท อาหารและสิ่งของที่เรานำส่งเรือยอชต์ เราจะอุดหนุนคนในท้องถิ่นภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ผัก ดอกไม้ รวมถึงเครื่องดื่มต่างๆ" 

หากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กักตัวครบ 14 วันก็จะลงมาเที่ยวในภูเก็ต ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นระดับไฮเอนด์ กำลังซื้อสูง มูลค่าในการใช้จ่ายแต่ละครั้งก็ค่อนข้างมาก ที่สำคัญไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ยังมีในส่วนของการซ่อมบำรุงของเรือยอชต์ ทำให้เกิดการจ้างแรงงานในกลุ่มนี้อีกครั้ง ที่สำคัญชุมชนโดยรอบท่าเรือ รวมไปถึงในส่วนต่างๆ ก็เริ่มกลับมาเปิดร้านค้าขายของกันมากขึ้นเพราะแรงงานเริ่มมีรายได้ และมีกำลังซื้อ


ถ้าถามว่า การกักตัวบนเรือยอชต์นานถึง 14 วันพวกเขาจะเบื่อไหม ก็ต้องบอกว่าไม่เบื่อ เพราะมีสาธารณูปโภคครบครัน ความบันเทิงก็เช่นกัน ที่สำคัญ พวกเขาแล่นเรือมาหลายประเทศแล้ว และมีความเคยชินที่อยู่บนเรือ

เอาเป็นว่าถ้า เศรษฐินีศรีราชา ไปอยู่แบบนี้จะเบื่อไหม ก็ตอบทันที ไม่เบื่อแน่นอน เพราะกิจกรรมที่อยากทำค่อนข้างแน่น เหนือสิ่งอื่นใด คือ ไม่ต้องทำงาน เช่น นอนอาบแดดอ่านหนังสือเล่มโปรด หรือจะโดดลงน้ำทะเล ตีกรรเชียงหยอกล้อไปกับฝูงปลา หรือจะนอนดูซีรีส์มาราธอนก็ยังได้...น่าอิจฉาไหมล่ะ

ยกให้เป็น Use case ที่ผนวก IoT และ Smart City เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เล่าให้ "เศรษฐินีศรีราชา" ฟังว่า หลังจากได้พูดคุยกับผู้ประกอบการในภูเก็ต และดีป้า ว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์เรื่องการ Quarantine อย่างไร ซึ่งเรามีทีมงานในพื้นที่ก็ไปดูเรื่องสัญญาณ และความพร้อมในเรื่องต่างๆ

"จริงแล้วๆ concept นี้ก็เหมือนกับ IOT ทั่วไป และไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ประเด็น คือ คุณจะเอาสัญญาณและข้อมูลเหล่านี้ไปทำอะไร ซึ่งเรามั่นใจว่าโครงการนี้เป็น Use case ที่ดี เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด"

นอกจากนี้ เราได้มีการลงทุนในเรื่องสัญญาณ และมีการตรวจสอบระบบทั้งหมดที่ต้องมีความพร้อมในการรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งเราคาดหวังว่าหลังจากโครงการนี้ จะมีการเอาไปพัฒนาประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น ถ้าในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวมาทางโดรน มาเครื่องบิน ขับรถมาลงเรือยอชต์เพื่อมากักตัวแทนที่การกักตัวในโรงแรม

"พอโครงการ Digital Yacht Quarantine สำเร็จ ตอนนี้มีหลายๆ คู่ค้าติดต่อเราเข้ามาแล้วเช่นกัน ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการพูดคุยกันอยู่ แต่เชื่อว่าน่าจะได้เห็นอีกหลายๆ โครงการออกมาเรื่อยๆ"


หลายคนชอบถามว่า Smart City นั้นเป็นอย่างไร ธนพงษ์ อธิบายว่า เป็นการใช้ดิจิทัลเข้าไปใช้ในทุกๆ ภาคส่วนในความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ความปลอดภัย พลังงาน เกษตรกรรม ซึ่งในแง่เทคโนโลยีของไทยเองมีความพร้อมมากๆ

แต่สิ่งที่ยังต้องพัฒนาคือ การให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการ หรือว่า Startup ต่างๆ เพื่อคิดค้น Use case ใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ AIS เองก็สร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับ Startup ต่างๆ ให้นำ Use case มาทดสอบและมาใช้งานบนแพลตฟอร์ม AIS ได้

ยุคนี้ผู้ประกอบการต้องคิดโจทย์ทางธุรกิจ ถ้าคุณมีโจทย์ เราก็มีเทคโนโลยีให้ และเราก็พร้อมสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น เราใช้เอากล้อง 4K คล้องคอ เจ้าหน้าที่รปภ. โดยสามารถถ่ายรูปรอบๆ ตัวรปภ.ได้แบบ 360 องศา และจำลองภาพขึ้นเพื่อมอนิเตอร์ความปลอดภัย ซึ่งเทคโนโลยีนี้อยู่บน 5G

นอกจากนี้ยังทำ VDO Analytics แจ้งเตือนได้ว่า มีรถเข้ามาชน หรือมีกระเป๋าสีดำวางอยู่บริเวณนั้นประมาณ 30 นาทีและยังไม่ไปไหน สงสัยว่าเป็นระเบิดหรือไม่ นอกจากนี้ เรายังใช้ VDO Analytics นับจำนวนคน สแกนคนได้ แน่นอนว่าเทคโนโลยีมีอยู่แล้วแต่จะนำมาประยุกต์ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์

ธนพงษ์ ทิ้งท้ายว่า จริงๆ แล้ว Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ตอนนี้หลายๆ องค์กรก็กำลังทำเรื่องนี้กันอยู่ เช่น การนำ 5G มาใช้งานในส่วนต่างๆ เช่น โรงงาน Bosch ที่ทำโรงงานอัจฉริยะ ใช้โรบอตวิ่งส่งของในโรงงานนั่นเอง 

ก่อนจากโบกมือลาภูเก็ต โกดำ บอกสั้นๆ ว่า ต่อจากนี้ภูเก็ตจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม นอกจากจะต้อนรับนักท่องเที่ยวไฮเอนด์แล้ว ผู้ประกอบการยังมุ่นเน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อจากนี้

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์