น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคยื่นฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอเพิกถอนมติ กขค.ที่อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซีพี รีเทล ดีเวอร์ลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด แม้จะเป็นมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 เพราะมติดังกล่าวส่งผลให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงขึ้นถึง 83.97% ซึ่งซีพีผลิตสินค้าอาหาร และอุปโภคบริโภคตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า กลไกตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงระบบเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้ ก่อนที่ กขค.จะอนุญาตให้รวมธุรกิจ ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียตามที่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนดส่วนขั้นตอนการลงมติก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ให้กรรมการเสียงข้างน้อยได้ลงมติเพื่อกำหนดเงื่อนไขป้องกันไม่ให้ 2 บริษัทเมื่อรวมธุรกิจแล้วมีอำนาจเหนือตลาดกว่า 80% และผูกขาดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
น.ส.กชนุช กล่าวว่า มติเสียงข้างมากของ กขค.ขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมายแข่งขันที่มุ่งป้องกันการผูกขาด การทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม และยังขัดกับประกาศ กขค.ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งในตลาดเกิน 50% เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้น มติ กขค.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย “มติกขค.นอกจากทำให้เกิดผลเสียกับประเทศอย่างร้ายแรง ยังเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจพลังงาน โทรคมนาคม ภาพยนตร์ ขอรวมธุรกิจจนมีอำนาจเหนือตลาด และผูกขาดสินค้า บริการ จนเกิดการกินรวบประเทศ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจอย่างมาก”
ด้านนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการแข่งขันทางการค้า หนึ่งในกรรมการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า ทราบเพียงว่ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ยังไม่ทราบว่าศาลรับฟ้องหรือไม่ ถ้ารับศาลจะต้องแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียด อย่างไรก็ตาม มติของ กขค.เป็นการพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบของทุกภาคส่วนแล้ว อีกทั้งยังมีเงื่อนไข 7 ข้อให้บริษัทที่ควบรวมต้องดำเนินการตามอย่างเข้มงวด โดยต้องส่งรายงานมาให้ กขค.พิจารณาเป็นระยะๆด้วย.