กสทช.ควานหาเงินคืนเจ๊ติ๋ม ศาลปกครองสูงสุดสั่งรวม 823 ล้านบาท

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กสทช.ควานหาเงินคืนเจ๊ติ๋ม ศาลปกครองสูงสุดสั่งรวม 823 ล้านบาท

Date Time: 10 มี.ค. 2564 07:20 น.

Summary

  • เปิดมูลค่าเงินที่ กสทช.ต้องจ่ายคืนเจ๊ติ๋มทีวีพูล มูลค่ารวมราว 823 ล้านบาท หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กสทช.จ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลคืน ทั้งงวด 1 บางส่วน งวด 2 และ 3

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

เปิดมูลค่าเงินที่ กสทช.ต้องจ่ายคืนเจ๊ติ๋มทีวีพูล มูลค่ารวมราว 823 ล้านบาท หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กสทช.จ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลคืน ทั้งงวด 1 บางส่วน งวด 2 และ 3 ที่แบงก์กรุงเทพจ่ายแทนในฐานะผู้ค้ำประกัน กสทช.แจงเงินเข้ากระทรวงการคลังหมดแล้ว ด้านเจ๊ติ๋มดีใจเปิดรับพนักงานเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 ในคดีที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด โดยนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋มทีวีพูล ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัท ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยมีคำสั่งให้ กสทช.คืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัลให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด จำนวน 151 ล้านบาท และให้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำนวน 16 ฉบับ ที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด วางเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกัน โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกไปนั้น

คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดคดีฟ้องร้องระหว่างเจ๊ติ๋มทีวีพูลกับ กสทช. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เพียงปีเศษๆ หลังการเปิดประมูลช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นการเปิดเสรีธุรกิจสถานีโทรทัศน์ระดับประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนการออกอากาศจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล โดยขณะนั้นกลุ่มทีวีพูลประมูลใบอนุญาตได้ 2 ช่องคือช่องไทยทีวีและโลก้า แต่ปรากฏการแข่งขันที่รุนแรงจากช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 24 ช่อง ทำให้กลุ่มทีวีพูลประสบความยากลำบาก รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงปล่อยจอดำ คืนใบอนุญาต และฟ้องร้อง กสทช. โดยยกสาเหตุเรื่อง กสทช.ไม่สามารถดำเนินนโยบายได้ทำสัญญาละเลยต่อหน้าที่ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ตั้งแต่ขยายโครงข่ายล่าช้า แจกคูปองส่วนลดรับการติดตั้งเสาอากาศล่าช้า เป็นต้น

ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (กสทช.) เปิดเผยต่อกรณีดังกล่าวว่า ไทยทีวีฟ้องร้อง กสทช.ใน 3 ส่วนด้วยกันคือ 1.ขอเงินค่าประมูลคืน 2.ขอหนังสือค้ำประกันคืน 3.เรียกร้องค่าเสียหาย โดยมูลค่ารวมในข้อที่ 1 และ 3 อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนหนังสือค้ำประกันในข้อ 2 อยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท และศาลมีคำสั่งให้คืนเงินค่าประมูลซึ่งไทยทีวีจ่ายไปเพียง 1 งวด วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท โดยให้คืนจำนวน 151 ล้านบาท ส่วนค่าเสียหายไม่มีคำพิพากษาให้ชดใช้แต่อย่างใด

ส่วนในกรณีหนังสือค้ำประกันนั้น กสทช.ได้บังคับเอาจากธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ค้ำประกัน เพื่อชำระเงินค่าประมูลในงวด 2 และ 3 เป็นมูลค่าราว 600 ล้านบาท (ส่วนหนังสือค้ำประกันที่เหลือสามารถส่งคืนได้) อย่างไรก็ตาม เงินบังคับเอาจากแบงก์นั้น ถูกนำจ่ายไปยังกระทรวงการคลังเข้าเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ต่อไป ว่าจะนำเงินจากส่วนใดไปจ่ายคืนให้นางพันธุ์ทิพา

ด้านนางพันธุ์ทิพากล่าวว่า แม้ศาลจะไม่มีคำสั่งให้ กสทช.จ่ายค่าเสียหายให้ แต่ก็ถือว่าน่ายินดีที่จะได้เงินค่าประมูลคืนบางส่วน โดยหลังศาลมีคำพิพากษา ทางกลุ่มทีวีพูลมีแผนที่จะรับพนักงานเพิ่ม จากปัจจุบันรัดเข็มขัดอยู่ที่ 10 คน แต่คงจะรับเพิ่มอีกราว 20 คนเท่านั้น เพราะทุกอย่างไม่เหมือนเดิม ทำธุรกิจในยุคนี้ต้องลงทุนแต่พอเพียง โดยธุรกิจที่จะเดินหน้าต่อ จะไปทางโซเชียลทั้งหมด ไม่กลับมาทีวีอีกแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของหนังสือทีวีพูลนั้น ยังคงอยู่และจะไม่เลิกพิมพ์ เพราะต้องการให้เป็นตำนาน โดยปัจจุบันหนังสือทีวีพูลยังทำกำไรอยู่ แม้ไม่มากเท่าเดิม

ทั้งนี้ หนังสือค้ำประกันในงวด 2 และ 3 ซึ่ง กสทช.ต้องคืนเงินให้ มีมูลค่า 288.47 ล้านบาท และ 384.34 ล้านบาทตามลำดับ รวมเป็นมูลค่า 672 ล้านบาท โดยเมื่อรวมกับเงินประมูลงวดที่ 1 ซึ่งศาล สั่งให้จ่ายคืนอีก 151 ล้านบาท รวมมูลค่าที่ กสทช. ต้องจ่ายคืนให้เป็นเงินประมาณ 823 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ