ลงทะเบียนปลูกกัญชา-กัญชง ยสท.รับเครือข่ายเกษตรกรใบยาสูบก่อน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลงทะเบียนปลูกกัญชา-กัญชง ยสท.รับเครือข่ายเกษตรกรใบยาสูบก่อน

Date Time: 9 มี.ค. 2564 07:58 น.

Summary

  • ยสท.แจ้งข่าวดี! เตรียมเปิดลงทะเบียนปลูก “กัญชา-กัญชง” สิ้นเดือน มี.ค.นี้ นำร่องกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรปลูกใบยาสูบ 1.3 หมื่นครัวเรือน เน้นผลิตเพื่อใช้ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม ไม่ทำบุหรี่กัญชาแน่

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

ยสท.แจ้งข่าวดี! เตรียมเปิดลงทะเบียนปลูก “กัญชา-กัญชง” สิ้นเดือน มี.ค.นี้ นำร่องกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรปลูกใบยาสูบ 1.3 หมื่นครัวเรือน เน้นผลิตเพื่อใช้ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม ไม่ทำบุหรี่กัญชาแน่ ย้ำรายได้งามปีละ 2.5 แสนบาทต่อไร่ ลุ้น สคร.-กฤษฎีกา ออกกฎหมายปลดล็อกลุยธุรกิจเชิงพาณิชย์

นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ภายในปลายเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน เม.ย.นี้ ยสท.จะเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการปลูกกัญชงและกัญชาเชิงพาณิชย์ โดยนำร่องที่เครือข่ายผู้ปลูกใบยาสูบของ ยสท.กว่า 13,000 ครัวเรือนก่อน เพื่อให้เป็นพืชทางเลือกทดแทนการขายใบยาที่ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ และต่อจากนั้นจะขยายให้เกษตรกรทั่วไปลงทะเบียนได้

ทั้งนี้ จากการหารือกับรัฐบาลแล้ว รัฐบาลเห็นด้วยและเชื่อว่า ยสท. มีความเหมาะสมที่จะเข้ามาปลูกและผลิตกัญชา กัญชงในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมีเครือข่ายเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีตัวตนชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานด้านวิจัย พันธมิตรทั้งสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล โรงงาน ซึ่งมีความพร้อมในการจัดการ อีกทั้งปัจจุบัน ยสท.อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาออกกฎกระทรวงการคลัง เพื่อปลดล็อกให้ ยสท.เดินหน้าทำกัญชาและกัญชงเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจกัญชา กัญชง จะไม่ได้ปลูกเพื่อใช้ผสมกับบุหรี่และนำออกมาขาย แต่จะมีการวิจัยเพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยา และภาคอุตสาหกรรม โดยมีความร่วมมือกับองค์การเภสัช และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งหากทำได้จริงจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีรายได้ราวปีละ 250,000 บาทต่อไร่ จากเดิมปลูกใบยาจะมีรายได้ปีละ 23,000 บาทต่อไร่เท่านั้น

“เบื้องต้นน่าจะมีเกษตรกรกว่า 60% ที่เป็นเครือข่ายของ ยสท.พร้อมเข้าร่วม โดย ยสท.จะประชุมและอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกกัญชา กัญชงก่อน เพื่อเตรียมความพร้อม จากนั้นจึงจะออกกฎเกณฑ์ว่า จะปลูกได้กี่ต้น ราคารับซื้อเท่าไร”

นายภาณุพล กล่าวต่อว่า การเดินหน้าศึกษาธุรกิจกัญชา กัญชงเป็นส่วนหนึ่งในแผนปรับตัว เพื่อหารายได้ขององค์กร หลังจากได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ที่ทำให้ยอดขายและกำไรลดลง โดย ยสท.ได้ดำเนินการในหลายทาง เช่น ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงงานผลิตยาสูบ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 19 ล้านบาท รวมถึงนำที่ดินที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย หนองคายออกมาประมูลเช่า เพื่อสร้างรายได้คาดปีนี้จะมีกำไร 600-700 ล้านบาท และปีหน้าจะมีกำไรเกิน 1,000 ล้านบาท

ส่วนการขึ้นภาษีบุหรี่ ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังทบทวนอยู่ และจะได้ข้อสรุปภายในเดือน มี.ค.นี้ เชื่อว่าคงไม่ใจร้ายปรับขึ้นภาษีจนทำให้บุหรี่เพิ่มไปซองละ 75-80 บาท เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมลำบาก ที่สำคัญที่ผ่านมาการขึ้นภาษีบุหรี่ก็ยังมีคนสูบบุหรี่เหมือนเดิมที่ 10.7 ล้านคน โดยสูบลดลงเพียง 4% แต่กลับทำให้มีบุหรี่เถื่อนลักลอบเข้ามาขายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 25-30% ขณะที่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กู้เงิน 1,500 ล้านบาทมาใช้ ก็ไม่สามารถทำได้ เป็นเพราะ ยสท.ถังแตก ทำได้เพียงการกู้เพื่อบริหารความเสี่ยงในอนาคตเท่านั้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ