เปิดตัว ดิจิทัลยอชต์ควอรันทีน รับนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ ใช้จ่ายอู้ฟู่ฟื้นฟูภูเก็ต

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดตัว ดิจิทัลยอชต์ควอรันทีน รับนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ ใช้จ่ายอู้ฟู่ฟื้นฟูภูเก็ต

Date Time: 8 มี.ค. 2564 17:25 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • เปิดตัว Digital Yacht Quarantine รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนัก กักตัวบนเรือยอชต์ 14 วัน ที่ภูเก็ต ใช้ริสแบนด์ แท็กกิ้งข้อมูลรายงานสุขภาพ ทดลอง 2 เดือน โกยเงินแล้วกว่า 600 ล้าน

Latest


เปิดตัว Digital Yacht Quarantine รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนัก กักตัวบนเรือยอชต์ 14 วัน ที่ภูเก็ต ใช้ริสแบนด์ แท็กกิ้งข้อมูลรายงานสุขภาพ ทดลอง 2 เดือน โกยเงินแล้วกว่า 600 ล้าน

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64 ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงความเสียหายเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในปี 63 ที่ผ่านมา ภูเก็ตสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท

โดย ดีป้า และพันธมิตรบริษัทเอกชน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมมือจัดทำโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine ครั้งแรกในไทย ที่ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ด้วยแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ ผ่านเทคโนโลยี NB-IoT Wristband Tourist Tracking

รวมถึงเครื่องมือมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ หรือ Health Monitoring ของนักท่องเที่ยวระหว่างกักตัว 14 วัน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมความปลอดภัยด้านสาธารณสุขแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต ทำให้การกักตัวบนเรือยอชต์ของนักท่องเที่ยวและการทำงานของทีมแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ในฐานะที่เรามีคลื่น 4G และ 5G ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ, กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 700 MHz, คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz ตลอดจนเครือข่าย IoT ทั้ง NB-IoT และ eMTC ที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine จะเกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับขั้นตอนการให้บริการ เริ่มขึ้นเมื่อมีนักท่องเที่ยวประสานเดินทางเข้ามาทางเรือ สมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จะเป็นตัวแทนประสานงานกับหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคในครั้งแรก จากนั้นจะให้นักท่องเที่ยวสวม สายรัดข้อมืออัจฉริยะ จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละท่านตลอด 14 วันของการกักตัว เข้ามาที่ Dash Board ณ ที่ทำการ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป

ทั้งนี้ AIS เลือกใช้เครือข่าย Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT บนคลื่น 900 MHz ซึ่งสามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมใช้ Cloud มาเป็นเครือข่ายหลักเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของ NB-IoT Wristband Tracking ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง หรือ POMO ที่จะมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายังแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือก่อนเดินทางขึ้นบกเพื่อท่องเที่ยวต่อไป

นายฉัตรชัย ตั้งจิตตรง ประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า สำหรับ Digital Yacht Quarantine เราได้ใช้ดีไวซ์ 2 รุ่นคือ Activ 10+ และ Smartwatch Active 30+ ที่เป็นทั้ง Tracker และ Health Device ให้นักท่องเที่ยวใส่ที่ข้อมือติดตัวตลอดเวลา เพื่อติดตามและเฝ้าระวังป้องกันการออกนอกพื้นที่ โดยระบบจะทำงานอย่างแม่นยำด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะที่สามารถวัดชีพจร ค่าความดัน และวัดอุณหภูมิร่างกายของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งสัญญาณ SOS ได้ หากนักท่องเที่ยวเกิดเหตุต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะแสดงไปยัง Dashboard บนเว็บไซต์ แบบ Real time เพื่อให้ส่งต่อความช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำได้ได้ตลอดเวลา โดยรูปแบบของการให้บริการ Health Monitoring ผ่านนวัตกรรมสายรัดข้อมืออัจฉริยะนี้ เป็นรุ่นเดียวกันกับที่ใช้บนเกาะ Cayman สำหรับ Hotel bubble project ที่ได้ผลอย่างดีอีกด้วย

นางสาวตัญญุตา สิงห์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอชท์ จำกัด ตัวแทนสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย (TYBA) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสมาชิกสมาคมฯอย่างหนัก เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากเรือยอชต์ต่างชาติสูญเสียรายได้มากถึง 50-60% เราจึงพยายามหาโซลูชั่นให้คนในธุรกิจเรือยอชต์ได้กลับมามีงานทำ จึงเป็นที่มาของโครงการกักตัวบนเรือยอชต์

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และทุกภาคส่วนมีความสบายใจว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับเรือยอชต์นี้ผ่านการกักตัวที่ได้รับมาตรฐานจากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ Yacht Quarantine ในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีสถิติการติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ และนักท่องเที่ยวรู้สึกมีความสุขกับการกักตัวบนเรือ

"เราคาดว่าในปี 64 นี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ประมาณ 100 ลำ จำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 300-500 คน ซึ่งจากการทดลองทำโครงการเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มีการกระจายรายได้เข้าท้องถิ่นแล้วกว่า 500-600 ล้านบาท เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นระดับไฮเอนด์ กำลังซื้อสูง มูลค่าในการใช้จ่ายแต่ละครั้งก็ค่อนข้างมาก ที่สำคัญไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ยังมีในส่วนของการซ่อมบำรุงของเรือยอชต์ ทำให้เกิดการจ้างแรงงานในกลุ่มนี้อีกครั้ง"

ด้านนายธนภัทร ทั่วไตรภพ กรรมการบริหาร บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เราได้ร่วมกับบริษัท พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป ผู้ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ดำเนินการตั้งแต่การให้บริการลงทะเบียน NB-IoT Wristband Tourist Tracking เพื่อให้นักท่องเที่ยวสวมใส่สำหรับกักตัวบนเรือยอชต์ 14 วัน พร้อมจัดทีมแพทย์ขึ้นไปตรวจเชื้อโควิดบนเรือ

โดยจะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพตลอดเวลา และหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน ก็จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงติดโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ก่อนอนุญาตให้เดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ต เรียกได้ว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอล นอกจากจะยกระดับการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และหมู่เกาะทะเลอันดามันให้มีความทันสมัยและอัจฉริยะมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์