ก็เป็นข่าวฮือฮามากในแวดวงพลังงาน เมื่อ กองทัพบก เซ็นบันทึกข้อตกลงกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อนำ พื้นที่ราชพัสดุกว่า 4.5 ล้านไร่ ในความดูแลของกองทัพบก สร้างเป็น “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” ขนาด 30,000 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยจะให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมทุน 51% มีข่าวว่าพื้นที่นำร่องจะอยู่ที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 3,000 ไร่ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 300 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 6,000-7,000 ล้านบาท ทำให้มีบริษัทเอกชนสนใจเป็นจำนวนมาก
ยังไม่รู้ว่า กองทัพบก จะนำงบประมาณส่วนไหนไปร่วมลงทุนกับเอกชน เพราะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล กว่าจะได้เงินคืนก็อีกนาน ถ้าคิดจากตัวอย่างการลงทุนโซลาร์ฟาร์มขนาด 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 6,000-7,000 ล้านบาท โซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์ ต้องใช้เงินลงทุน 600,000-700,000 ล้านบาท แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังหืดขึ้นคอ
คุณสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ภาคเอกชนติดตามข่าว โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกองทัพบก 30,000 เมกะวัตต์ และ พื้นที่อีอีซี 500 เมกะวัตต์ เห็นว่า ทั้งสองโครงการถือว่าไม่มีอยู่จริง เพราะ ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ในขณะที่ พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ ตัวแทนกองทัพบกให้สัมภาษณ์ว่า โครงการนี้มาถูกที่ ถูกเวลา ท่ามกลางวิกฤติ แม้ไม่ได้อยู่ในแผน PDP ฉบับใหม่ แต่แผน PDP สามารถปรับปรุงได้ เพราะตอนเขียนแผนไม่ได้อยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) พ.ศ.2561-2580 ฉบับล่าสุด เพิ่งผ่านการเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมานี้เอง เป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องปิดบ้านปิดเมืองปิดโรงงานกันมากมาย
ท่ามกลางความสงสัยของสังคม จู่ๆกองทัพบกก็จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า วันศุกร์ที่ผ่านมา พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพ ก็ออกมาชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 กองทัพบก ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนิน “โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก” ตามแนวคิดการจัดตั้ง โรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกด้วยแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม โดยใช้พื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของกองทัพบก ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดมลพิษรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าว เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ต้องการสนับสนุนสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมีกรอบระยะเวลาประมาณ 2 ปี ขอย้ำว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น กองทัพบกยังไม่มีนโยบายที่จะดำเนินโครงการในเชิงพาณิชย์
ความจริง กองทัพไทย มีหน้าที่หลักคือป้องกันราชอาณาจักร แต่เมื่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ต้องการสนับสนุนสร้างความมั่นคงทางพลังงานประเทศ ก็น่าจะนำเสนอ กพช.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม เป็นประธาน กพช.มีหน้าที่วางแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าโดยตรง การผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดเพิ่มอีก 30,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม แผน PDP ฉบับล่าสุด วางแผนผลิตไฟฟ้าถึงปี 2580 ไว้ 77,211 เมกะวัตต์ ถ้าผลิตเพิ่มอีก 30,000 เมกะวัตต์ คงต้องส่งขายเพื่อนบ้านอย่างเดียว
ที่แปลกก็คือ แผนผลิตไฟฟ้า PDP มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพียง 18,833 เมกะวัตต์ สวนทางกับกระแสโลกอย่างแรง และ แพ้เวียดนามแบบไม่เห็นฝุ่น เลยทีเดียว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”