ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี เตรียมขออนุญาตจาก อย. เดินหน้าปลูกกัญชง 100 – 200 ไร่ วางเป้าเก็บเกี่ยวช่อดอกและเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้แก่โรงงานสกัดน้ำมัน ซีบีดี
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ศึกษาโอกาสขยายการลงทุนใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยหลังจากที่ ครม. ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง เพื่อผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย
ล่าสุด STA เตรียมรุกเข้าสู่ธุรกิจเพาะปลูกกัญชงที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยเตรียมดำเนินการขอใบอนุญาตเพาะปลูกกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อนำที่ดินบางส่วนจากปัจจุบันที่มีที่ดินเพื่อการเพาะปลูกยางพารากว่า 45,000 ไร่ทั่วประเทศ รองรับการเพาะปลูกกัญชง
สำหรับแผนงานเฟสแรกนั้น หลังจากได้รับใบอนุญาตจาก อย.แล้ว บริษัทฯ เตรียมนำที่ดินส่วนแรก 100 – 200 ไร่ ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมมาใช้เพาะปลูกกัญชง โดยในช่วงแรกจะนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ คาดว่าจะเริ่มลงมือเพาะปลูกได้ในช่วงกลางปีนี้และใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน
ก่อนจะดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่ ช่อดอกกัญชงและเมล็ดพันธุ์กัญชง เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นโรงงาน นำไปสกัดน้ำมันซีบีดี (CBD Oil) ซึ่งเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อสมอง สำหรับนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม เป็นต้น
จากการศึกษาพบว่าช่อดอกกัญชงและเมล็ดพันธุ์กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยช่อดอกกัญชงและเมล็ดพันธุ์กัญชงสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันซีบีดี อันเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งราคารับซื้อน้ำมันซีบีดี จากประมาณการของหลักทรัพย์กสิกรฯ ด้วยพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ จะสามารถนำผลผลิตที่เป็นเมล็ดพันธุ์กัญชงและดอกกัญชงมาสกัดเป็นน้ำมัน CBD ได้ประมาณ 25 กิโลกรัม
ทั้งนี้ สำหรับการเพาะปลูกกัญชงในเชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เชื่อว่ายังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ให้ความสนใจนำน้ำมันซีบีดีไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงมองเป็นโอกาสดีในการรุกเข้าสู่ธุรกิจกัญชงอย่างจริงจัง
"เราวางแผนขยายธุรกิจกัญชงเป็น 2 เฟส ในเฟสแรกเป็นการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวช่อดอกและเมล็ดพันธุ์ เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานที่รับซื้อเพื่อนำไปสกัดน้ำมันซีบีดี หากได้ผลลัพธ์ที่ดี ในเฟสที่สองก็มีแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น โดยมีที่ดินเตรียมไว้รองรับการเพาะปลูกได้ 1,000 – 2,000 ไร่ จึงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนที่ดิน เรายังสนใจจะขยายการลงทุนสร้างห้องแล็บและโรงงานสกัดน้ำมันซีบีดี เพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (เพาะปลูก) และธุรกิจกลางน้ำ (สกัดน้ำมันซีบีดี) ต่อไป"