นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานเตรียมจะประกาศให้มีการยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 และผลักดันน้ำมันเบนซินอี 20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดชนิดของน้ำมันในตลาดให้มีความเหมาะสม ไม่ให้หลากหลายจนเกินไปนั้น ล่าสุดได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ ให้เหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้กระทรวงพลังงานได้หารือกับผู้ผลิตเอทานอล โดยเห็นว่าราคาอ้างอิงเอทานอลเดือน ม.ค. ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 26 บาทต่อลิตรนั้น เป็นราคาที่แพงเกินไปซึ่งจะกระทบราคาขายปลีก โดยหากเป็นไปได้ราคาควรเฉลี่ยที่ 21-22 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้เป็นภาระ แต่ผู้ผลิตเอทานอลยืนยันว่าราคาดังกล่าวเป็นไปตามราคาต้นทุนวัตถุดิบหลักในการผลิตทั้งมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล (โมลาส) ที่ปีนี้มีราคาที่สูงขึ้นมาก โดยยืนยันว่าปริมาณเอทานอล มีเพียงพอที่จะเดินหน้าในการส่งเสริมอี 20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในเดือน ก.ค.นี้
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้พยากรณ์แนวโน้มการใช้พลังงานทุกประเภทของไทยปีนี้ ภายใต้โควิด-19 ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเฉลี่ย 0.2%-1.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของพลังงานเกือบทุกประเภท ยกเว้นการใช้น้ำมันที่ลดลง 1.9%-2.9% การใช้ก๊าซธรรมชาติจะใช้เพิ่มขึ้น 0.1%-4.1% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ทรงตัวคาดว่าเพิ่มขึ้น 0.1%-0.4% พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 5% จากนโยบายส่งเสริม และการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 0.1%.