นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 64 ว่า การส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 3.6% มูลค่า 237,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปี 63 ที่ติดลบ 7% ภายใต้เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าฟื้นตัวการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย 40% ของประชากรโลก และวัคซีนมีประสิทธิภาพในการรักษา ราคาน้ำมันสูงขึ้นและความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มีผลบังคับใช้กลางปี 64
แต่หากกรณีเลวร้าย ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย คือน้อยกว่า 40% ของประชากรโลกและจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 700,000-800,000 คน การส่งออกของไทยจะติดลบ 0.8% มูลค่า 227,165 ล้านเหรียญเท่านั้น ดังนั้น แม้การส่งออกไทยจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ครอบคลุมประชากรโลก รวมทั้งต้องดูประสิทธิภาพวัคซีนด้วย, ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ประเมินว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1% จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยลดลง 0.11% หากเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญ มูลค่าส่งออกจะลดลง 0.5% หรือลดลง 1,039 ล้านเหรียญ หากอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญ มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หรือเพิ่มขึ้น 572 ล้านเหรียญ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าขาดแคลน ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น 3-5 เท่า และทำให้การส่งออกไทยปี 64 ลดลง 2.2% มูลค่า 5,159 ล้านเหรียญ รวมถึงผลกระทบจากกรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เวียดนาม-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเสียความสามารถการแข่งขันในตลาดอียู ประเมินว่าส่งออกไทยจะลดลง 1,072 ล้านเหรียญ หรือลดลง 0.47% อีกทั้งต้องติดตามนโยบายสหรัฐฯ หลังนายโจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดี กรณีเบร็กซิตของอังกฤษ และอังกฤษกับแคนาดาแบนสินค้าจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้.