ปี 64 เงินไหลเข้า “อีอีซี” 4 แสนล้าน เดินหน้าพัฒนา 5 จีให้ชุมชน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปี 64 เงินไหลเข้า “อีอีซี” 4 แสนล้าน เดินหน้าพัฒนา 5 จีให้ชุมชน

Date Time: 19 ธ.ค. 2563 06:03 น.

Summary

  • “คณิศ” มั่นใจปี 64 เม็ดเงินทะลักเข้าอีอีซี 4 แสนล้านบาท หลังพิษโควิดทำลงทุนปีนี้สะดุด เพราะคนเดินทางมาไม่ได้ ด้านบอร์ดอีอีซี เห็นชอบผลักดัน 5 จีให้โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“คณิศ” มั่นใจปี 64 เม็ดเงินทะลักเข้าอีอีซี 4 แสนล้านบาท หลังพิษโควิดทำลงทุนปีนี้สะดุด เพราะคนเดินทางมาไม่ได้ ด้านบอร์ดอีอีซี เห็นชอบผลักดัน 5 จีให้โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล ฐานทัพเรือ สนามบินอู่ตะเภา และชุมชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ พร้อมเปลี่ยนรูปแบบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีดี จากรัฐและเอกชนร่วมลงทุน เป็นรัฐลงทุนเอง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าในปี 64 จะมี เม็ดเงินเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 400,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 100,000 ล้านบาท และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 300,000 ล้านบาท สำหรับเหตุผลที่จะมีการลงทุนมากในปีหน้า เนื่องจากปีนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไว้แล้วเดินทางยากลำบาก จึงชะลอการลงทุนในปีนี้ไว้ก่อน

สำหรับยอดการขอบีโอไอในอีอีซีในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปีนี้ มีทั้งสิ้น 387 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 128,158 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 76,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี ซึ่งลดลงจากปี 62 ที่มีการยื่นขอบีโอไอ 199,041 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่าย 5 จีที่ประเทศไทยเริ่มต้นก่อนประเทศอื่น เพื่อให้โรงงาน 10,000 แห่ง และโรงแรม 300 แห่งได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ รวมไปถึงให้หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ได้ใช้ ซึ่งในการประมูลเพื่อลงทุนระบบ 5 จี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดภายใน 1 ปี ซึ่งจะครบเดือน ก.พ.64 การทำโครงข่าย 5 จีต้องครอบคลุม 50% ของพื้นที่อีอีซี ล่าสุดขณะนี้ ทำได้ 80% ของเป้าหมายในปีแรกแล้ว

“โครงการนำร่องพัฒนาระบบ 5 จี เริ่มตั้งแต่ บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบเพื่อเสริมความมั่นคง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เพื่อเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อเสริมประสิทธิภาพอุตสาหกรรม และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อให้ชุมชนได้เริ่มทดลองใช้ระบบ 5 จี”

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูล ผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐ จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ ในพื้นที่อีอีซี โดยให้โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เป็นจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) และปรับข้อกฎหมายเพื่อนำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน ในส่วนของข้อมูลที่เปิดเผยได้ มาจัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต (Common Data Lake) เพื่อให้ภาคธุรกิจและกลุ่มสตาร์ตอัพนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เช่น สร้างอี-คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการแพทย์ และพัฒนาบุคลากรดิจิทัล โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความ ต้องการของเอกชน 100,000 คน

นายคณิศ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ปรับรูปแบบการทำโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) จากเดิมตั้งใจจะทำในรูปแบบรัฐลงทุนร่วมกับเอกชน (พีพีพี) เปลี่ยนเป็น สกพอ.ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. บริหารจัดการเอง โดยเฉพาะในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภายในพื้นที่ ทั้งถนน ไฟฟ้า แหล่งน้ำ ซึ่งรัฐจะลงทุนเองทั้งหมด โดยเหตุผลที่เปลี่ยนแนวทาง ยังมาจากกรณีที่นักลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะ
เข้ามาในโครงการนี้เป็นหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกงและไต้หวัน ซึ่งมีความต้องการติดต่อแบบรัฐต่อรัฐด้วยกันเท่านั้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยแผนเกษตรในอีอีซี ใช้ความต้องการตลาดนำ เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าตรงความต้องการ ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ให้สินค้าเกษตร มีคุณภาพดี ราคาสูง ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ คือ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ เพื่อยกระดับการผลิตตรงความต้องการ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ