คลอดไกด์ไลน์คุมเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง กรมทรัพย์สินฯหวังลดปัญหาขัดแย้ง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลอดไกด์ไลน์คุมเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง กรมทรัพย์สินฯหวังลดปัญหาขัดแย้ง

Date Time: 27 พ.ย. 2563 08:35 น.

Summary

  • นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง โดยได้นำแนวทางของประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหภาพยุโรป

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง โดยได้นำแนวทางของประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหภาพยุโรป และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) มาเป็นต้นแบบเสร็จแล้ว และแจ้งให้หน่วยงานจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงดำเนินการใช้แล้ว เพื่อให้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้อย่างถูกต้อง และลดข้อพิพาทระหว่างผู้เก็บกับผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สถานบันเทิง โดยหลักปฏิบัติที่ดี หรือไกด์ไลน์ดังกล่าว เป็นเพราะที่ผ่านมา กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลการบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เอาไว้ชัดเจน ทำให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในไทยเกิดปัญหา เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ละรายจะกำหนดค่าลิขสิทธิ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเอง ซึ่งแต่ละแห่งก็ใช้แนวทางไม่เหมือนกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ กรมจึงได้จัดประชุมให้ความรู้แก่ผู้แทนบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกว่า 80 คน

สำหรับสาระของหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงนั้น กำหนดให้องค์กรจัดเก็บต้องปฏิบัติต่อสมาชิกด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ มีการจัดเก็บข้อมูลสมาชิก ห้ามรับเจ้าของสิทธิ์ที่เป็นสมาชิกขององค์กรจัดเก็บอื่นหรือที่โอนสิทธิ์ให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว มีการเปิดเผยหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน เป็นต้น และต้องแจ้งข้อมูลต่อผู้ใช้งาน เช่น เปิดเผยอัตราค่าตอบแทน กำหนดค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม คิดค่าตอบแทนร้านที่มีขนาดเท่ากันในอัตราเดียวกัน หากพบเห็นการใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต ควรเจรจาก่อนบังคับใช้สิทธิ์

ทั้งนี้ บริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงต้องแจ้งข้อมูลการจัดเก็บต่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กรมการค้าภายใน ได้แก่ รายชื่อเพลง อัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เงื่อนไขการจัดเก็บ แต่อัตราการจัดเก็บไม่ได้มีกฎหมายควบคุม ซึ่งบริษัทสามารถกำหนดได้เอง และการจัดเก็บค่าตอบแทนจะต้องจัดเก็บตามอัตราที่แจ้งไว้กับ กกร. หากจัดเก็บค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามที่แจ้งต่อ กกร. สามารถร้องเรียนได้ที่ กกร. โดยปัจจุบันมีบริษัทที่แจ้งจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อ กกร. 39 ราย โดยมีเพลงไทย 262,420 เพลง และเพลงสากล 9,608,553 เพลง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ