จีน-ปากีสถาน ทุ่มเกือบ 2 ล้านล้านบาท ขยายเส้นทางรถไฟ เชื่อมต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
จีนและปากีสถานประกาศทุ่มงบประมาณ 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท เดินหน้าความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ China Pakistan Economic Corridor (CPEC) ภายใต้นโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)
โดยความตกลงดังกล่าวได้ถูกประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังการพบปะกันของ นายหวัง อี้ นายกรัฐมนตรีของจีน และ นายชาห์ มะห์มูด คูเรชิ รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถาน ที่มณฑลเหอหนานของจีน โดยตั้งเป้าว่าการร่วมมือขยายเส้นทาง หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เชื่อมต่อระหว่างกัน จะนำไปสู่การพัฒนาที่ทันสมัยและเปิดประตูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
รายงานจากธนาคารแห่งชาติปากีสถาน ชี้ว่าจีนถือเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในปากีสถานรายใหญ่ที่สุด โดยมีการทุ่มเม็ดเงินลงทุนมากถึง 27 ล้านดอลลาร์ หรือราว 851 ล้านบาท เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ขณะที่นาย โคลด ราคิซิทส์ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า CPEC เป็นการแสดงให้เห็นการขยายอิทธิพลของจีนในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และเอเชียกลาง โดยมองว่าจีนนั้นมีกำลังมากพอทั้งด้านการเงินและความสามารถในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในอัฟกานิสถานและอิหร่าน เช่นเดียวกับรายงานจากเว็บไซต์ ไทมส์ ออฟ อินเดีย ที่ระบุว่าโครงการดังกล่าวเป็นการขยายอิทธิพลโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีน
จีดรุดหน้าไม่สนอินเดีย
ไม่ใช่แค่ความร่วมมือกับปากีสถานเท่านั้น แต่เมื่อวันพุธ (19-08-63) ที่ผ่านมารัฐมนตรีต่างประเทศของจีนและอัฟกานิสถาน ได้ตอบตกลงขยายความร่วมมือในการสร้างทางรถไฟและพลังงาน ภายใต้นโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ด้วยเช่นกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ได้สร้างความกังวลให้อินเดีย ที่ต่อต้าน CPEC เนื่องจากมีเส้นทางผ่านแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถานมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ การประกาศทุ่มงบใน CPEC ยังเกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งจีนมีความขัดแย้งกับประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังทหารอินเดียและกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเกิดการปะทะกันบริเวณพื้นที่พิพาทบนเทือกเขาหิมาลัย ส่งผลให้มีทหารฝ่ายอินเดียเสียชีวิต หลังจากนั้นได้มีการเจรจาระหว่างสองประเทศ แต่สื่อของอินเดียระบุว่าการเจรจาไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ที่มา: SCMP , Timesofindia , Hindustantimes