ขอต่างชาติเข้าไทยทำธุรกิจ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขอต่างชาติเข้าไทยทำธุรกิจ

Date Time: 12 มิ.ย. 2563 06:30 น.

Summary

  • นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวหลังจากประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เป็นประธานว่า ในการประชุม

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

อีอีซีจ่อชงนายกฯ เร่งผ่อนผันหวังขยับยอดลงทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวหลังจากประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เป็นประธานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในวันที่ 22 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ บอร์ดบริหารอีอีซีเตรียมเสนอ 2 เรื่อง คือ 1.แนวทางการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี และ 2.การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซีให้พิจารณา

โดยแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ตามที่กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซี อาทิ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อเดินทางมาทำธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิค เข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง

โดยบอร์ดบริหารอีอีซีจะหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) รวมทั้งจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข พิจารณากำหนดประเทศต้นทาง และจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศในแต่ละช่วงเวลา และการกำหนดมาตรการกักกัน 14 วัน ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศเหมือนกับกรณีอื่นๆ

ขณะที่การทำแผนพัฒนาการเกษตรอีอีซีจะมีเป้าหมายยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่าอุตสาหกรรมและบริการ โดยพื้นที่อีอีซีนำร่องใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ผลการผลิตสูงขึ้น เข้าถึงตลาดสินค้า โดยสำรวจตลาดในจีน กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ว่ามีความต้องการพืชชนิดใดบ้างก่อนการผลิต รวมทั้งแบ่งพื้นที่กลุ่ม (คลัสเตอร์) การเกษตรที่มีศักยภาพตรงความต้องการของตลาด 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.คลัสเตอร์ผลไม้ ซึ่งจะเน้นคุณภาพสินค้าสู่ตลาดโลกพรีเมียม 2.คลัสเตอร์ประมง 3.คลัสเตอร์พืชสำหรับ Bio-based Product 4.คลัสเตอร์พืชสมุนไพร และ 5.คลัสเตอร์ High Valued Crops ปรับเปลี่ยนสู่พืชมูลค่าสูง เช่น ไม้ประดับ ผักปลอดสารพิษ โคขุน เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ