ห้ามส่งออกไข่ไก่ แค่ชั่วคราว 7 วัน จุรินทร์สั่งแล้ว (คลิป)

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ห้ามส่งออกไข่ไก่ แค่ชั่วคราว 7 วัน จุรินทร์สั่งแล้ว (คลิป)

Date Time: 27 มี.ค. 2563 05:13 น.

Summary

  • นครสวรรค์จับแล้วแม่ค้าขายไข่ไก่แพงเกิน จุรินทร์สั่งห้ามส่งไข่ ไก่ออกนอกประเทศ 7 วันถ้าสถานการณ์ ไม่ดีขึ้น

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

อัจฉริยะลุยแฉ 2 รง.แมสก์ฉาว

นครสวรรค์จับแล้วแม่ค้าขายไข่ไก่แพงเกิน จุรินทร์สั่งห้ามส่งไข่ ไก่ออกนอกประเทศ 7 วันถ้าสถานการณ์ ไม่ดีขึ้นจะขยายเวลาต่อไป ยันทุกวันนี้ผลิตได้วันละ 40 ล้านฟอง เพียงพอต่อการบริโภค เช่นเดียวกับปลัดพาณิชย์ ลั่นเอาคอเป็นประกัน ไข่ไก่และอาหารไม่ขาดแคลนแน่นอน เผยที่ราคาสูงขึ้นช่วงนี้เพราะคนแห่ตื่นตุน ขณะที่เฉลิมชัยสั่งชะลอส่งออกไข่ ให้ฟาร์มยืดอายุการเลี้ยงแม่ไก่ไข่ยืนกรงเพื่อเพิ่มปริมาณไข่ โยนพิษโควิดทำความต้องการเพิ่ม 3-5 เท่า ด้านประธาน กมธ.ป.ป.ช.เผยหลังอัจฉริยะเข้าให้ข้อมูลไอ้โม่งกักตุนแมสก์ ตั้งข้อสงสัย 2 รง. ผลิตหน้ากากอนามัยน่าจะปั๊มเกินกว่ายอดที่ระบุไว้ไปขายตลาดมืด

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ แม้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนจะเร่งแก้ปัญหาแต่ก็ยังขาดตลาดและมีราคาสูง ทั้งยังเริ่มลามไปถึงสินค้าอื่นที่เริ่มขาดตลาดและมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไข่ไก่ อาหารที่จำเป็นกับทุกครัวเรือนที่เกิดจากประชาชนแห่ซื้อกักตุน หลังรัฐบาลประกาศจะใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. และขอความร่วมมือให้ประชาชนหยุดอยู่กับบ้าน เพื่อสู้กับเชื้อร้ายอุบัติใหม่

นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ชี้แจง

การแก้ไขปัญหาไข่ไก่ขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้น เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายมาโนช ชูทัมทิม นายกเทศมนตรีตำบลเทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่แห่งประเทศไทยเผยว่า ข่าวลือที่ว่ามีการกักตุนไข่ไก่ในประเทศไทยแล้วนำส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ราคาแผงละ 200 บาท ไม่ใช่เรื่องจริง เนื่องจากไทยส่งออกให้ประเทศ สิงคโปร์ในจำนวนร้อยละ ไม่ใช้ราคาตามแผงแน่นอน ที่ยังส่งออกอยู่ตลอดเพราะมีการซื้อขายระหว่างประเทศทุกเดือนอยู่แล้ว กรณีที่ไข่ไก่หายไปจากตลาดไม่ใช่เพราะมีการกักตุนของเอกชนหรือหน่วยงานใด แต่เป็นเพราะประชาชนวิตกกังวลเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แห่ซื้อไปกักตุนกันเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ไข่ไก่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในตอนนี้ ทุกวันนี้มีพ่อค้าคนกลางหรือลูกค้าประจำที่เป็นเจ้าใหญ่จะมารับจากฟาร์มในพื้นที่ หากไข่ไก่มีราคาแพงไม่ได้เกิดจากฟาร์มขึ้นราคาแน่

ราคาไข่ไก่พุ่งกระฉูดต่อเนื่อง

ที่ จ.พิษณุโลก ราคาไข่ไก่ยังคงปรับราคาขึ้นทุกวัน โดยที่ร้านจำหน่ายไข่ไก่-ไข่เป็ด ถนนริมทางรถไฟ ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก พบว่า ในช่วงเช้ามีชาวบ้านมาถามหาซื้อไข่ไก่ไม่ขาดสาย แต่ขายหมดตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มี.ค.แล้ว กระทั่งเวลา 10.00 น.รถขนไข่ไก่จากฟาร์ม จ.นครสวรรค์ นำไข่ไก่ 200 แผง มาลงขายที่ร้าน เป็นไข่คละขนาดใหญ่ราคาแผงละ 150 บาท ขยับขึ้นจากเมื่อวานนี้ 10 บาท ส่วนไข่เป็ดยังคงราคาเดิมแผงละ 130 บาท หลังวางขายไม่นานลูกค้าแห่กันมาซื้อไปจนหมดเกลี้ยง เช่นเดียวกับ จ.เลย จากการสังเกตการณ์ตามร้านค้าและตลาดนัดใน อ.เมืองเลย พบว่าไข่ไก่ขายหมดเกลี้ยง ยังมีเหลือตามห้างค้าส่งแต่ไม่มากนัก

ฟาร์มไก่ขายไข่ชาวบ้านราคาถูก

ที่ฟาร์ม “ฟางฟ้าฟาร์มไข่ไก่’ บ้านห้วยตาด ต.โคกงาม อ.ด่านซ้าย จ.เลย ทางฟาร์มหยุดขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่ขายไข่ไก่ให้ชาวบ้านคนละ 1-2 แผง เพื่อช่วยเหลือในยามเดือดร้อน นายคำหมุน วังคีรี อายุ 59 ปี เจ้าของฟาร์มเล่าว่า เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 1,000 ตัว ออกไข่วันละกว่า 900 ฟองหรือ 32 แผง ยังขายราคาเดิม เบอร์ 1 แผงละ 100 บาท เบอร์ 2 แผงละ 90 บาท เบอร์ 3 แผงละ 85 บาท และเบอร์ 4 แผงละ 75 บาท ก่อนจะมีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ขายให้ยี่ปั๊วและพ่อค้าที่มาซื้อถึงฟาร์มในราคานี้ แต่ตอนนี้ไข่ไก่เริ่มขาดตลาดและมีราคาแพง พ่อค้ามาขอซื้อไข่ไก่จากราคาเดิมบวกให้ 20 บาทต่อแผง แต่ตนไม่ขาย ช่วงนี้จะขายให้เฉพาะชาวบ้านในพื้นที่คนละ 1-2 แผงเท่านั้น เป็นการช่วยเหลือและไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาเพราะรู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อน

กำแพงเพชรแผงละ 130-150 บาท

ส่วนที่ตลาดศูนย์การค้าจังหวัดกำแพงเพชร นายบุญชัย ประสิทธิเมตต์ ผอ.กลุ่มกำกับเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกำแพงเพชร นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาไข่ไก่ หลังจากราคาขยับขึ้นแผงละ 30-50 บาท สอบถามผู้ค้าไข่ไก่หลายรายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนใช้วิธีออกมาซื้ออาหารทีละมากๆเพื่อเก็บตุนไว้กินในบ้าน โดยเฉพาะไข่ไก่เป็นเมนูอาหารที่ง่ายต่อการปรุง ชาวบ้านมาซื้อไปเก็บตุนไว้เพื่อจะได้ไม่ต้องออกไปนอกบ้านบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ไข่ไก่มีราคาดันสูงขึ้นเป็นแผงละ 130-150 บาท จากเดิมราคาแผงละ 95-110 บาท ตามขนาดของไข่

ตลาดไทลงเท่าไหร่ขายเกลี้ยง

ส่วนที่ตลาดไท แม่ค้าร้านเพชรรัตน์ สาขา 3 ตลาดไท เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ที่แล้วไข่ไก่ขายได้เรื่อยๆ ไม่เคยหมดแผง กระทั่งช่วงก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้บริโภคคงหวั่นวิตกกับช่วงเวลาออกนอกบ้าน และการหาอาหารบริโภคยาก ทำให้หลายคนออกมาหาซื้อไข่กันมากขึ้น ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาถึงขณะนี้ ไข่ไก่ซึ่งขนส่งมาจากฟาร์มในจังหวัดอ่างทอง ลงเท่าไรขายได้หมดอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดต้องสั่งจองกันล่วงหน้าวันต่อวัน แม้ราคาจะปรับตัวขึ้นแต่ผู้บริโภคไม่เกี่ยงราคา สำหรับปัญหาไข่ขาดแคลน ส่วนหนึ่งนอกจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ปริมาณไข่แม่ไก่ลดลง ยังเป็นผลมาจากส่วนใหญ่ขณะนี้แม่ไก่เริ่มปลดระวาง ส่วนราคาหน้าแผงไข่ไก่วันนี้ที่ตลาดไท เบอร์ 0 ราคา 180 บาท เบอร์ 1 ราคา 150 บาท ไข่เบอร์ 2 ราคา 130 บาท แพงกว่าที่กำหนด

สำหรับราคาไข่ไก่สด กรมการค้าภายใน วันที่ 26 มี.ค. ไข่ไก่เบอร์ 0 ราคา 124.50 บาท เบอร์ 1 ราคา 115.50 บาท เบอร์ 2 106.50บาท เบอร์ 3 100.50 บาท เบอร์ 4 94.50 บาท(ราคา/1 แผง 30 ฟอง)

นครสวรรค์จับแม่ค้าไข่ไก่แพง

ที่ จ.นครสวรรค์ น.ส.ปาริชาติ พงค์พันเทา ผอ.กลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ จับกุมนางกาญจณา อินแป้น อายุ 42 ปี แม่ค้าขายไข่ไก่ ในตลาดสดบ่อนไก่ อ.เมืองนครสวรรค์ หลังได้รับการร้องเรียนจำหน่ายไข่ไก่ราคาแพง พร้อมของกลาง แผงไข่ไก่ติดป้ายราคาขนาดเบอร์ 3 แผงละ 130 บาท ขนาดเบอร์ 2 แผงละ 145 บาท ขนาดเบอร์ 1 แผงละ 150 บาท และขนาดเบอร์ 0 แผงละ 155 บาท มีราคาแพงเกินจริงเมื่อเทียบกับราคาประกาศของสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ (คละ) ราคาฟองละ 2.80 บาท (แผง 30 ฟอง ราคา 84 บาท) ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร และประกาศ กกร.ฉบับที่ 53 พ.ศ.2562 กำหนดไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุม นำตัวส่ง ร.ต.อ.เอกสิทธิ์ พุกสอน รอง สว. (สอบสวน) สภ.เมืองนครสวรรค์ ดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 จำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร

เฉลิมชัยชี้ปกติมีไข่ไก่ 41 ล.ฟอง/วัน

ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่ประชาชนจะแห่ซื้อไข่สดเพื่อกักตุนสำรองใช้บริโภค กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์สำรวจข้อมูลพบว่า มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงประมาณ 49 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่สดประมาณ 41 ล้านฟองต่อวัน อัตราการบริโภคไข่สดภายในประเทศประมาณ 39 ล้านฟองต่อวัน มีไข่สดบางส่วนที่เกินความต้องการในประเทศ ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องส่งไข่ส่วนเกินออกไปจำหน่ายต่างประเทศไม่ให้ไข่ล้นตลาด และพ่อค้าคนกลางในประเทศกดราคารับซื้อ เป็นการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ในประเทศให้เกษตรกรพออยู่ได้ไม่ขาดทุน และไม่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศเดือดร้อน

สั่งปศุสัตว์ประสานชะลอส่งออก

“ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความตื่นตระหนกของประชาชน เกิดกระแสการกักตุนไข่สด เป็นสินค้าจำเป็นในครัวเรือนทำให้ปริมาณความต้องการซื้อไข่สดเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าตัวจากภาวะปกติ ทำให้ปริมาณไข่ไก่สดขาดตลาด ประชาชนหาซื้อได้ยากขึ้น มีราคาจำหน่ายปลีกแพงขึ้นแบบกะทันหัน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลาย ดังนั้น เพื่อป้องกันกระแสการกักตุนไข่ไก่สด หรือป้องกันราคาสินค้าไข่ไก่สดสูงเกินต้นทุนที่แท้จริง และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในขณะนี้ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ประสานเจรจาเป็นการเร่งด่วนขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการส่งออกไข่ไก่สด ในการชะลอการส่งออกไข่ไก่สดไปจำหน่ายยังต่างประเทศทุกประเทศ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยจะไม่มีการอนุญาตให้ส่งออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” นายเฉลิมชัยกล่าว

เฝ้าระวังไข่ไก่ไร้คุณภาพสู่ตลาด

ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากชะลอการส่งออกไข่ไก่สดตามที่ รมว.เกษตรฯสั่งการแล้ว กรมปศุสัตว์ยังแจ้งให้ฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศยืดอายุการเลี้ยงแม่ไก่ยืนกรงออกไปตามที่แต่ละฟาร์มเห็นว่าเหมาะสม จากเดิมที่กำหนดให้ปลดแม่ไก่ยืนกรงที่อายุ 80 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มปริมาณไข่ไก่เข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์จะจัดส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสอบตามศูนย์รวบรวมไข่ไก่ และสถานที่จำหน่ายไข่ไก่ทั่วประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2559 เพื่อตรวจ สอบปริมาณไข่ไก่ การเคลื่อนย้ายและแหล่งที่มาของไข่ไก่อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังมิให้มีการนำไข่ไก่ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา รวมถึงไข่ไก่ที่ไม่สะอาดปลอดภัย นำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคด้วย

ปลัด พณ.ยันอาหารไม่ขาดแคลน

วันเดียวกัน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ปิดเผยถึงกรณีที่ขณะนี้ราคาไข่ไก่ในประเทศสูงขึ้นมาก ว่า ยืนยันปริมาณไข่ไก่และอาหารจะมีเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศแน่นอน เพราะไทยเป็นครัวของโลก ที่ผ่านมาสามารถผลิตอาหารป้อนคนไทยกว่า 65 ล้านคน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยปีละ 40 ล้านคน แต่ปีนี้นักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าอาหารจะขาดแคลน ส่วนปัญหาไข่ไก่ที่ขณะนี้ราคาสูงขึ้นมาก เกิดจากคนซื้อกักตุนไว้มากกว่าปกติ เพราะกลัวจะออกมาซื้ออาหารไม่ได้ อีกทั้งไข่ไก่เก็บไว้ได้นานกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ

ขอให้มั่นใจ เอาคอเป็นประกัน

ปลัด พณ.กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจ ไข่ไก่และอาหารจะไม่ขาดแคลนแน่นอน เอาคอเป็นประกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะออกมาซื้ออาหารนอกบ้านไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ห้ามแม้จะมีประกาศเคอร์ฟิวก็ตาม แต่ช่วงกลางวันยังออกมาซื้ออาหารได้ ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้บังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างเด็ดขาด เพื่อดูแลเรื่องการกักตุนสินค้าและการค้ากำไรเกินควร ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะใช้ พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ของกระทรวงมหาดไทย มากำกับดูแลด้วยเช่นกัน กฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจยึดสินค้าออกมาขายต่อ หรือสั่ง และบังคับให้ขายสินค้ากับใครก็ได้ หากประชาชนพบการกักตุนสินค้าให้ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมที่มีอยู่ทั่วประเทศได้

“จุรินทร์” ยันไข่ไก่ผลิตเพียงพอ

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยผลิตไข่ได้ประมาณวันละ 40 ล้านฟอง ถือว่าเพียงพอต่อการบริโภค บางช่วงถึงขั้นล้นตลาดจนรัฐบาลต้องอุดหนุน แต่สถานการณ์ปัจจุบันประชาชนกังวลเรื่องไวรัสโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสูงขึ้นใน 2-3 วันนี้ถึง 3 เท่า ทำให้ขาดตลาดบางช่วง กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูไม่ให้ขายเกินราคาที่ควรจะเป็น สามารถดำเนินคดีได้ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการปราบปรามผู้ขายไข่เกินราคา ยืนยันจะดำเนินคดีทุกราย อยากขอความร่วมมือในช่วงวิกฤติเช่นนี้ การค้ากำไรเกินควรจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน

ประกาศห้ามส่งไข่ไก่ออกนอก ปท. 7 วัน

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ไก่ขาดตลาด จะออกประกาศห้ามส่งไข่ไก่ออกนอกราชอาณาจักรชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ให้มีผลตั้งแต่วันนี้ (26 มี.ค.) เป็นเวลา 7 วัน ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจะขยายเวลาต่อไป รวมถึงประสานกรมปศุสัตว์ไม่ให้อนุญาตการส่งออก

ฟุ้งผลิตหน้ากาก 2.3 ล้านชิ้น/วัน

นายจุรินทร์กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากเรื่องไข่แล้วยังเคร่งครัดการจับกุมการขายเวชภัณฑ์เกินราคา ล่าสุดเพิ่งจับกุมร้านค้าขายเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือที่ จ.ภูเก็ต ส่วนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่หน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ดูแล ขณะนี้ผลิตได้ 2.3-2.4 ล้านชิ้นต่อวัน โดยส่งให้กระทรวงสาธารณสุขแจกจ่ายให้บุคลากรทาง การแพทย์ 1.3-1.5 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนที่เหลือมอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ เพราะมีศูนย์บัญชาการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เนื่องจากมีอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกเรื่อง

“สมชัย” ลุยแฉพิรุธส่งออกแมสก์

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โพสต์เฟซบุ๊กว่า กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะคับขัน และมอบอำนาจให้แก่นายกฯ ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จากกรณีที่ทั้งประเทศยังไม่สามารถหาซื้อหรือได้มาซึ่งหน้ากากอนามัยราคาถูกและมีคุณภาพอย่างแท้จริง สะท้อนถึงกลไกภาครัฐมีจุดอ่อน ขาดประสิทธิภาพกำกับดูแล ยิ่งดูสถิติการส่งออกหน้ากากที่กรมศุลกากรเผยแพร่ว่าในรอบ 3 เดือน (ธ.ค.62-ก.พ.63) เป็นหน้ากากทางการแพทย์ 28.9 ตัน และประเภทอื่น 465.9 ตัน รวมแล้วถึง 494.8 ตัน หรือหากเทียบเคียงจำนวนอาจใกล้เคียง 200 ล้านชิ้น

แนะห้ามส่งออก–ใช้แต่หน้ากากแพทย์

“ใคร่ขอเสนอให้ ฯพณฯ ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (6) และ (9) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1.สั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกประเภทไม่มีข้อยกเว้นใดๆ (เดิมยกเว้นการอนุญาตจากอธิบดีกรมการค้าภายใน) 2.สั่งโรงงานผลิตในประเทศ เปลี่ยนรูปแบบการผลิตเป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้ในทางการแพทย์แจกจ่ายประชาชน และระดมผลิตแบบ 24 ชั่วโมง 3.สั่งให้สนับสนุนวัตถุดิบที่เพียงพอ ลดต้นทุนโดยอาจลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเหลือ 0% หรืออาจโยกโอนงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อสนับสนุนโรงงาน 4.หลังจากที่มีหน้ากากอนามัยจำนวนเพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ สมควรให้แจกจ่ายโดยจัดส่งหน้ากากอนามัยถึงบ้านให้แก่ประชาชนอย่างน้อยครัวเรือนละ 4 ชิ้น (ใช้งบฯ ทางราชการ) สั่งการบริษัทไปรษณีย์ไทยผู้ดำเนินการ ประชาชนจะได้หน้ากากเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา” นายสมชัยระบุ

สงสัย รง.แอบปั๊มเพิ่ม ดูจากค่าไฟ

เย็นวันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ใน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลประชุมอนุ กมธ.ว่า ได้เชิญนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลืออาชญากรรมมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกักตุนหน้ากากอนามัย โดยตั้งข้อสงสัยโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 แห่ง ที่ระบุมีกำลังการผลิต 1.2 ล้านชิ้นต่อวันนั้น น่าจะผลิตได้มากกว่านั้น เห็นจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของโรงงานแต่ละแห่ง มียอดใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นมาก ดังนั้นกำลังการผลิตหน้ากากต้องสูงขึ้น แต่ไปอยู่ไหนเข้าไปสู่ในตลาดมืดหรือไม่

จี้นายกฯแจงให้ชัด ส่งไปไหนบ้าง

นายธีรัจชัยกล่าวต่อว่า ฝากถึงนายกฯและ รมว.พาณิชย์ให้ช่วยชี้แจงการกระจายหน้ากากที่ระบุว่ามีการส่งให้โรงพยาบาล 7 แสนชิ้นต่อวันและส่งให้ร้านค้า 5 แสนชิ้นต่อวัน มีรายละเอียดส่งไปที่ไหนบ้าง ทำไมราคายังแพงอยู่ ขณะเดียวกันอนุ กมธ.ยังได้ข้อมูลว่าในวันที่ 9 มี.ค.63 วันเดียว คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคากลางสินค้าและผลิตภัณฑ์ กระทรวงพาณิชย์ อนุมัติให้ 7 บริษัท ส่งออกหน้ากากอนามัยถึง 12 ล้านชิ้น จากยอดทั้งหมดที่ขอมา 53 ล้านชิ้น จาก 242 บริษัท อยากทราบว่าวันอื่นๆอนุมัติการส่งออกเท่าใด

ปูดเส้นทางการเงินโยง ขรก.

นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ปรึกษา กมธ.ป.ป.ช.กล่าวว่า นายอัจฉริยะได้แจ้งต่ออนุ กมธ.ว่า มีข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถึงเส้นทางการเงินเรื่องหน้ากากอนามัยในกลุ่มข้าราชการ นายกฯได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้จนมีการใช้คำสั่งกับข้าราชการบางคนไปแล้ว เรามีข้อมูลส่วนนี้ที่ตรวจสอบได้ และจะตรวจสอบเชิงลึกต่อไป

“อัจฉริยะ” ซัด 2 รง.ขายตลาดมืด

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า ได้ให้ข้อมูล กมธ.ว่า มีบริษัทผลิตหน้ากากอนามัยมากกว่า 200 บริษัท หากทุกบริษัทร่วมกันผลิตจะมีหน้ากากอนามัยมากกว่า 200-300 ล้านชิ้นต่อเดือน ทั้ง 200 บริษัท มีทั้งนำเข้าส่งออก และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ไม่ทราบว่าของขาดตลาดได้อย่างไร เหตุใดต้องล็อกการผลิตอยู่แค่ 11 บริษัท และ 2 ใน 11 บริษัทนำหน้ากากไปขายในตลาดมืดจำนวนมาก ยกตัวอย่างมีบริษัทหนึ่งขายหน้ากากให้นายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือบอย ในวันที่ 29 ม.ค.63 จำนวน 1 ล้านชิ้น ราคา 3.40 บาท บางคนได้ค่านายหน้า 40 สตางค์ต่อชิ้น

เอาผิดบิ๊ก คน.ได้ ถ้า กมธ.เอาจริง

นายอัจฉริยะกล่าวอีกว่า ยังทราบด้วยว่าบางบริษัทแจ้งว่า มีกำลังการผลิต 2 แสนชิ้น ความจริงผลิตวันละ 5 แสนชิ้น และนำส่วนต่างวันละ 3 แสนชิ้นไปขายในตลาดออนไลน์ และส่งออก อยากทราบว่ากรมการค้าภายใน (คน.) ควบคุมสินค้าอย่างไร หากทั้ง 200 บริษัทมาร่วมกันผลิตจะขาดตลาดได้อย่างไร จากข้อมูลที่มีอยู่เชื่อว่าเอาผิดอธิบดีกรมการค้าภายในได้ ขึ้นอยู่กับ กมธ.จะเอาจริงหรือไม่ ส่วนตัวกลัวเป็นมวยล้มต้มคนดู ไม่อยากให้ข้อมูลมาก ทั้งที่มีข้อมูลเชิงลึกจำนวนมาก

ส.ส.โดนเบี้ยวแมสก์ 100 กล่อง

เย็นวันเดียวกัน นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ พร้อมทนายความ เข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.อานนท์ อุณาภาค รอง สว. (สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น ให้ดำเนินคดีแม่ค้าออนไลน์ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ชลี อัณอัณ” เบี้ยวไม่จัดส่งหน้ากากอนามัยที่สั่งซื้อให้ โดยนำสำเนาการโอนเงิน การติดต่อสั่งซื้อของมอบให้เป็นหลักฐาน โดยนายวัฒนากล่าวว่า ได้ใช้เงินเดือนและเงินตำแหน่ง ส.ส. จัดซื้อหน้ากากอนามัย 200 กล่อง คณะทำงานได้รับมาแล้ว 100 กล่อง แจกจ่ายให้ทีมแพทย์และ อสม. แล้ว ส่วน 100 กล่องที่เหลือ สั่งซื้อผ่านเฟซบุ๊ก “ชลี อัณอัณ” ได้โอนเงินมัดจำ 5,000 บาท และเงินค่าหน้ากากอนามัยส่วนที่เหลือ 55,000 บาท เข้าบัญชี น.ส.สุทธินันท์ บุญแจ้ง ตามที่แม่ค้าร้องขอ แต่ไม่ส่งของให้แถมยังปิดเฟซบุ๊กหนี ถึงรู้ว่าถูกหลอก จะติดตามเรื่องให้ถึงที่สุด และขอเป็นคนกลางในการจัดรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ถูกพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลอกลวง เฉพาะกรณีหน้ากากอนามัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ