นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 โดยหลักเกณฑ์มีบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หากแพทย์ ผู้รักษาได้ดำเนินการสอบสวนโรคแล้ว เห็นว่าต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองและบุคคลใน ครอบครัว ดังนี้ 1.ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time PCR หรือเทคนิคอื่นๆ ซึ่งรวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และ 2.ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 540 บาทต่อครั้ง
ส่วนผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 ในกรณีที่สถานพยาบาลของทางราชการรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน ให้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพิ่มเติม เช่น ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time PCR จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล, ค่าห้องพักสำหรับควบคุมดูแลรักษา ในอัตราจ่ายจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน และค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,200 บาท, ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ในอัตราจ่ายเกินจริงไม่เกิน 740 บาท
ขณะที่กรณีสถานพยาบาลของทางราชการจำเป็นต้องส่งตัวผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องเป็นผู้ป่วยใน ณ สถานพยาบาลของทางราชการแห่งอื่น จะมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลนอกเหนือจากค่าพาหนะส่งต่อ รายการค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และค่าบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการส่งต่อ
ส่วนการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยนอกกรณีทั่วไป ให้ทำธุรกรรมผ่านเครื่องรับรายการอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) โดยให้สถานพยาบาลของทางราชการดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เป็นผู้ป่วยเก่าของสถานพยาบาลที่รับยาอย่างต่อเนื่อง.