สภาองค์การนายจ้างส่งสัญญาณเตือนแรงงานไทยใน 20 อุตสาหกรรมเร่งรีบปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโครงสร้างการผลิตหันใช้เทคโนออโตเมชั่นมากขึ้น เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล โดยเฉพาะปี 2568 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะถูกดิจิทัลเทคโนโลยีคุกคามแรงงานสูงถึง 10-15% ของแรงงานทั้งหมด แนะผู้ใช้แรงงานเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพูนทักษะใหม่ให้ทำงานได้หลากหลายหน้าที่มากขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การ นายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำการศึกษาและวิจัยรายงานการศึกษาการทบทวนที่มาอัตราการว่างงานของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มภาคแรงงานไทยกำลังเผชิญทั้งปัจจัยภายนอกที่ผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เชื้อไวรัสโควิด-19 ฯลฯ ที่จะกระทบให้การจ้างงานใหม่ชะลอตัวตามแล้ว
ยังต้องเผชิญกับการก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกำลังส่งผลกระทบ (Disruptive Technology) เนื่องจากแนวโน้มภาคการผลิตจะหันไปใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยี 4.0 แทนคนมากขึ้น โดยเฉพาะใน 20 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนสูง ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และชิ้นส่วน 2.ดิจิทัล 3.ยานยนต์และส่วนประกอบ 4.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5.คอมพิวเตอร์-แผงวงจร-ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ 6.เหล็กรีดร้อน-เย็น, โลหะ 7.ส่วนประกอบอากาศยานและการบิน 8.การผลิตเลนส์ 9.อะไหล่และโมเดลขึ้นรูป 10.ผลิตภัณฑ์ยางและยางรถยนต์
11.เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก 12.เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมีคัล 13.กระป๋องบรรจุอาหาร 14.สายไฟฟ้าสายเคเบิล 15.ทองแดงและผลิตภัณฑ์จากทองแดง 16.ยาและเครื่องสำอาง 17.อุปกรณ์การแพทย์ 18.เยื่อและกระดาษ 19.ตลับลูกปืน และ 20.การแปรรูปอาหาร
“ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานของชาติ (Labour Force) เฉลี่ย 38.2 ล้านคน และแรงงานที่จะสามารถทำงานอยู่กับสถานประกอบการที่มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้ จะต้องสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทักษะใหม่ในลักษณะ “Multi-Skill” คือ จะต้องสามารถทำงานได้หลากหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกัน ทั้งงานหลังบ้านและงานบริการลูกค้า ไปจนถึงพนักงานส่งเสริมการตลาด ดังนั้น การยกระดับทักษะทุนมนุษย์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำให้เป็นวาระแห่งชาติ”
นายธนิต กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 แรงงานของประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมจะถูกคุกคามจากเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ซึ่งอาจมีมากถึง 10-15% แต่ส่วนหนึ่งจะถูกซึมซับไปอยู่ในชนบทกลาย เป็นเกษตรกรและส่วนหนึ่งจะยังชีพด้วยบัตร สวัสดิการแห่งรัฐและอีกส่วนหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบสัดส่วนที่ชัดเจนจะสามารถปรับตัวทำงานร่วมกับเทคโนโลยี
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของไทยจะยังอยู่ในอัตราต่ำไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจาก นิยามผู้มีงานทำของไทยใช้เกณฑ์คนที่ในรอบหนึ่งสัปดาห์มีงานทำอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจะได้ค่าจ้าง หรือไม่ได้ค่าจ้างล้วนถูกกำหนดว่า ให้ถือว่าเป็นผู้มีงานทำ
“เกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันผมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำการศึกษาและวิจัยรายงานการศึกษาการทบทวนที่มาอัตราการว่างงานของประเทศที่ได้รับมอบหมายจากสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้จัดทำรายงานเสร็จแล้ว และได้นำเสนอต่อกระทรวงแรงงานเพื่อผลักดันให้เกิดการทบทวนวิธีการและเกณฑ์มาตรฐานจัดทำดัชนีว่างงานต่อไป”
ทั้งนี้ จากการศึกษาดัชนีการว่างงานของไทยระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ซึ่งไม่ได้สะท้อนการเติบโตเศรษฐกิจที่มีขึ้นและลงในแต่ละปี แต่อย่างใดจึงจำเป็นต้องทบทวนเกณฑ์ในการจัดทำเพราะได้มีการใช้มานานกว่า 20 ปี แต่สถานการณ์ต่างๆของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น การจัดทำข้อมูลใหม่นี้ เพื่อเป้าหมายทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลทั้งหมดรอบด้าน มีความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ.