THE ISSUES : วิน-วินมหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน 1.3 แสนล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

THE ISSUES : วิน-วินมหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน 1.3 แสนล้าน

Date Time: 25 ก.พ. 2563 05:01 น.

Summary

  • ในที่สุดคดีพิพาทค่าโง่ทางด่วน 1.3 แสนล้าน ระหว่างฝ่ายรัฐ คือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งถูกฝ่ายเอกชน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ฟ้องร้อง

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

ในที่สุดคดีพิพาทค่าโง่ทางด่วน 1.3 แสนล้าน ระหว่างฝ่ายรัฐ คือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งถูกฝ่ายเอกชน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ฟ้องร้องกรณีรัฐบาลสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ–รังสิต จนทำให้เกิดผลกระทบต่อยอดผู้ใช้บริการทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ดก็สามารถหาบทสรุปจบลงไปเรียบร้อย แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

หลังทั้ง 2 คู่กรณีตกลงรับเงื่อนไข และลงนามในสัญญาหย่าศึกไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ.63 ที่ผ่านมา โดยภาครัฐยอมขยายอายุสัมปทานทางด่วนให้ BEM ออกไป 15 ปี 8 เดือน และให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องถอนฟ้องทุกคดีให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มี.ค.63 เท่ากับว่า “ปิดฉากมหากาพย์การฟ้องร้องที่ต่อสู้กันมายาวนานถึง 25 ปีโดยสมบูรณ์”

งานนี้ต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ที่เข้ามารับเผือกร้อนจากรัฐบาลก่อน แต่ก็สามารถสางปัญหาปลดล็อกค่าโง่ได้อย่างรวดเร็ว โดยยอมเจรจาให้มีการขยายสัมปทานแทนการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายนับ
แสนล้านบาทได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม “ซุปเปอร์ดีล” ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นทางออกที่เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะภาครัฐ-ประชาชน-เอกชน ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน

เพราะหากว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว คดีนี้รัฐบาลเองดูไม่ได้เปรียบสักเท่าไร เพราะในการพิจารณาชั้นศาล ฝั่ง กทพ.ก็แพ้เรียบวุธมาตลอด จนล่าสุดเมื่อปี 61 ศาลปกครองกลางก็ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้ กทพ.แพ้คดีทางการแข่งขันมีมูลหนี้ถึง 7.8 หมื่นล้านบาท และทางฝ่ายกฎหมายมีการประเมินต่อว่า หาก กทพ.สู้ต่อมีโอกาสแพ้สูง ไม่นับรวมคดีไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทางด้วยอีก 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลหนี้พิพาทจะสูงถึง 1.37 แสนล้านบาททันที

ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 ครม.จึงมีมติให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงคมนาคม ไปเร่งเจรจาต่อรองกับคู่กรณีเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ นับตั้งแต่นั้นมาทั้ง 2 ฝ่าย คือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ BEM ได้ตั้งโต๊ะเจรจามากกว่า 8 ครั้ง รวมถึงเจรจาไม่เป็นทางการอีกนับร้อยครั้ง โดยมีผู้แทนจากคลัง อัยการสูงสุด กฤษฎีกา เข้าร่วมตรวจสอบทุกขั้นตอน พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาในการเจรจา

ผลเจรจาสามารถต่อรองลดมูลหนี้ลงจากเดิม 137,517 ล้านบาท เหลือเพียง 58,873 ล้านบาท และที่สำคัญไม่ต้องให้รัฐชดใช้เป็นเงินสด แต่ให้ขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วนที่เป็นข้อพิพาทออกไป 15 ปี 8 เดือนแทน ได้แก่ การขยายอายุสัญญาสัมปทานให้-โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A, B, C, ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และโครงการทางด่วนอุดรรัถยา ส่วน C+ สายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตั้งแต่ 1 มี.ค.63 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ต.ค.78 พร้อมกับให้ กทพ. และ BEM ถอนฟ้องคดีที่มีการฟ้องร้องต่อกันทั้ง 17 คดี แบ่งเป็นคดีที่ BEM ฟ้องร้อง กทพ. 15 คดี, กทพ.ฟ้อง BEM จำนวน 2 คดี ให้เสร็จสิ้น

ก่อนวันที่ 1 มี.ค.63 โดยดีลนี้ไม่ได้มีข้อผูกมัดกับข้อเสนอในการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck ดับเบิล เดก ระยะทาง 17 กม.แต่อย่างใด

ถามว่าข้อตกลงนี้ถามว่าดีไหม ในแง่ของรัฐ ต้องตอบว่าดีที่ไม่ต้องนำเงินของแผ่นดินที่หาได้ยากไปจ่ายให้เอกชน เกือบครึ่งแสนล้าน ขณะที่ภาคเอกชนก็สบายใจ ไม่ต้องปวดหัวไปต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยมีคู่กรณีเป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่ยังต้องทำมาหากิน พึ่งพาอาศัยกันอีกนาน

ส่วนภาคประชาชนก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ยังใช้ทางด่วนได้ตามปกติ โดยทาง BEM ก็ยินยอมยกเว้นค่าผ่านทางให้ประชาชนในทุกด่านที่มีข้อพิพาท ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ให้ประชาชนขึ้นฟรีจำนวนกว่า 19 วันต่อปี หรือมากกว่า 300 วันตลอดอายุสัญญาไปจนถึงปี 78

แต่ที่สำคัญกว่านั้นการเจรจายุติข้อพิพาทครั้งนี้ยังเป็นการปูทางในอนาคตให้กระทรวงคมนาคมสามารถลงทุนพัฒนาทางด่วนของภาครัฐได้โดยไม่ติดปัญหาเรื่องการแข่งขัน ซึ่งสามารถลงทุนพัฒนาทางด่วนได้ในทุกเส้นทางที่เห็นว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ต่อไปได้ ดังนั้นซุปเปอร์ดีลครั้งนี้จึงเป็นทางออกที่ไม่เลวสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.

สุรางค์ อยู่แย้ม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ