แบงก์ชาติ เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง ก่อนเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว และธุรกิจต่อเนื่อง ส่วนจะถึงขั้นถดถอยหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมรอบด้าน ขณะที่ “ออมสิน” ประเมินการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ฉุดจีดีพีไทยติดลบ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า ปัจจัยที่ยังต้องติดตามต่อก็คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 หลังมีผลบัง คับใช้ และการออกมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง “การระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ได้กระทบเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงอุตสาหกรรมหลักที่เป็นห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ลูกจ้างแรงงานด้วย”
ส่วนกรณีที่งบประมาณรายจ่ายของปี 2563 ผ่านสภาออกมาได้ก็ถือเป็นข่าวดีเพราะทำให้มีโอกาสที่ทุกหน่วย งานจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งจะมีเงินสำหรับมาตรการเสริมต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการโดยในวันที่ 25 มี.ค.ที่จะถึงนี้ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธปท.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง ส่วนเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสถดถอยหรือไม่ จะต้องติดตามปัจจัยต่างๆให้ชัดเจน เพราะมีทั้งที่พัฒนาขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดของไวรัสดังกล่าวโดยใช้ข้อมูลสถิติ จำนวนรายได้ และค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทย จากฐานข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาประมวลผล และคาดการณ์เพื่อนำไปพยากรณ์ผลกระทบที่จะมีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศในด้านการผลิตหากรายได้จากการท่องเที่ยวมีการปรับตัวลดลง โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ใน 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.63) คาดว่า นักท่องเที่ยวจีนจะหายไปประมาณ 1.6 ล้านคน ส่งผลให้รายได้การท่องเที่ยวของไทยลดลงไป 80,000 ล้านบาท และฉุดจีดีพีไทยปีนี้ลดลง -0.4%
ส่วนกรณีที่ 2 คือ หากการแพร่ระบาดของไวรัสต่อเนื่องไปจนถึง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) คาดว่า จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3.5 ล้านรายส่งผลให้รายได้การท่องเที่ยวของไทยลดลงไปกว่า 170,000 ล้านบาท ฉุดให้จีดีพีไทยลดลง -1.0% นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีต่อธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวเนื่องด้วย พบว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมใช้จ่าย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ช้อปปิ้ง (ค้าปลีก) 2.ที่พักแรม 3.ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม 4.การเดินทาง และ 5.บันเทิง/สันทนาการ เมื่อนักท่องเที่ยวจีนลดลงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้จ่ายทั้งหมด โดยเฉพาะในจังหวัดที่คนจีนนิยมท่องเที่ยว อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และเชียงราย
“กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่ม และธุรกิจขนส่ง โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 25,000-54,000 ล้านบาท จากการจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป”
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างถ้อย แถลงการณ์ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษว่าด้วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเวียงจันท์ ประเทศลาว ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ในโอกาสที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้าง โดยสาระของถ้อยแถลงคือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะมีการดำเนินการ 1.ส่งเสริมการหารือเชิงนโยบาย และการแลกเปลี่ยนผ่านกลไกอาเซียน-จีนด้านการพัฒนาสาธารณสุข 2.การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ประสบการณ์ การฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3.แบ่งปันข้อมูลอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง 4.ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และ 5.ลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ.