ผู้ประกอบการ 3,000 กว่าราย จาก 75 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งจากไทย นำสินค้าเครื่องหอม สินค้าตกแต่งต่างๆ สินค้าเครื่องเขียน ของใช้ในสำนักงาน ไปโชว์ พร้อมเจรจาธุรกิจกับคู่ค้า.
การที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยนำสินค้าไปออกงานแสดงในต่างประเทศ นอกจากจะเพิ่มช่องทางการค้าแล้ว ยังทำให้ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการรายใหม่ด้วย
ที่นครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 24-28 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา มีงานแสดงสินค้านานาชาติ 3 งาน จัดขึ้นพร้อมกันคือ Christmasworld, Paperworld และ Creativeworld มีผู้ประกอบการ 3,000 กว่าราย จาก 75 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้าใหม่ล่าสุดของตนเอง
งาน Christmasworld นั้นเป็นการแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาส เป็นเทศกาลที่ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดของปี และเมื่อรวมกับยอดขายจาก Black Friday และ Cyber Monday ในช่วงเดือนพฤศจิกายนด้วย ก็นับว่าเป็นช่วงเทศกาลที่สร้างยอดขายให้กับบริษัทห้างร้านมากที่สุด
สินค้าที่จัดแสดงในงานนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สินค้าประเภทต้นคริสต์มาสและอุปกรณ์ตกแต่งต้นคริสต์มาสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทียน เครื่องหอม ดอกไม้แห้ง เรื่อยไปจนถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดตกแต่งห้างร้าน โรงแรม ถนนและเมือง อาทิ หุ่นรูปปั้นที่เคลื่อนไหวได้ ไฟขนาดใหญ่ เครื่องยิงเลเซอร์เป็นภาพสีสัน ฯลฯ
ส่วน Paperworld เป็นงานแสดงสินค้าประเภทเครื่องเขียน สมุดกระดาษและของใช้ในสำนักงาน ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสืบเนื่องจากเทรนด์ DIY (Do-It-Yourself) ที่ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันมาชอบทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เป็นงานอดิเรก หรือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองแล้วลงมือทำเป็นชิ้นงาน
ทำให้ทางผู้จัดงานได้แยกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องดังกล่าวออกมาอยู่เป็น งาน Creativeworld ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 แล้ว และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การเขียนด้วยลายมือ เป็นที่นิยมอย่างกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก
นอกจากผู้ประกอบการจะได้มาเจรจาธุรกิจกับคู่ค้า และพบปะลูกค้าใหม่ๆแล้ว ภายในงานผู้จัดยังได้ใช้พื้นที่ส่วนกลาง จัดแสดงแนวโน้ม ทิศทางของตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสัน วัสดุ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทุกหมวดสินค้าต่างให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เป็นที่น่ายินดีว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยหลายสิบรายก็ได้มาร่วมออกงานแสดงสินค้าทั้ง 3 งานนี้ด้วยเช่นกัน โดยได้รับความสนใจไม่น้อยหน้าชาติอื่น
น.ส.ปิตินันทน์ สมานวรวงศ์ ผอ.สนง.ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ส่งเสริมผู้ส่งออกไทยมาโดยตลอด
ในอดีตนั้นจะเป็นรูปแบบของการจัดคูหาประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-Active Program) สนับสนุนค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 200,000 บาท ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถยื่นขอรับการสนับสนุนได้
“ข้อดีที่เห็นได้ชัดของความช่วยเหลือลักษณะนี้ คือ ผู้ประกอบการจะได้ไปอยู่ในโซนที่เหมาะสมกับสินค้าของตัวเอง ผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมงานเอง มีการจัดบูธให้อยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทที่ตรงกับตนเอง ทำให้มีโอกาสเจอผู้ซื้อที่ตรงกับประเภทสินค้าของตนเองมากขึ้น” น.ส.ปิตินันทน์ กล่าว
ด้านผู้ประกอบการไทย น.ส.ปริยา วรัญญูวงศ์ ผจก.ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท สยามแฟชั่นจิวเวลรี่ จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายของชำร่วยที่ทำจากโลหะและลงยาสี กล่าวว่า บริษัททำส่งออกอยู่แล้ว ส่วนมากไปสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มทรุดจึงหันมาหาตลาดอื่นมากขึ้น การได้มาออกงาน Christmasworld ช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้ เพิ่มจำนวนออเดอร์มากขึ้นทุกปี
น.ส.สุธินี ผลวิวัฒน์ ผจก.ฝ่ายส่งออก บริษัท ก๊อปปี้ไรท์ อินดัสเตรียล จำกัด ซึ่งผลิตและส่งออกกระดาษและฟิล์มคาร์บอน กล่าวว่า การมาร่วมงาน Paperworld สำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจส่งออกของตน การได้พบปะลูกค้ามีความสำคัญอย่างมาก เป็นการกระชับความสัมพันธ์และนำเสนอสินค้าใหม่ได้อย่างเต็มที่และชัดเจน
“บริษัทได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากโครงการ SMEs Pro-Active เพราะนอกเหนือจากงาน Paperworld ซึ่งบริษัทมาออกเป็นประจำทุกปีแล้ว ในปีที่ผ่านมา บริษัทยังได้ตัดสินใจไปร่วมงาน ISOT (International Stationeryand Office Products Fair ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยลูกค้าหลายคนมากที่สนใจสินค้าของเรา บางรายถึงกับบินตามมาดูที่เมืองไทยเลยด้วย” น.ส.สุธินี กล่าว
นายอาวุธ เจริญวัฒนานนท์ กก.ผจก.บริษัท นารา โกลบอล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าดินน้ำมันและอุปกรณ์เกี่ยวกับงานปั้นทุกประเภท ภายใต้แบรนด์ Nara กล่าวว่า ได้ออกงาน Paper-world อยู่แล้วเป็นประจำ การได้รับคัดเลือกให้เข้างาน Creativeworld ช่วยในเรื่องของภาพลักษณ์มีการยอมรับแบรนด์สินค้าที่มาจากไทยมากขึ้น
“ฝากถึงผู้ประกอบการรายใหม่ว่า การมาออกงานแสดงสินค้าระดับโลก นอกจากความกล้าแล้ว ต้องมีการเตรียมความพร้อม ศึกษาตลาด
มาเป็นอย่างดี เพื่อรู้จักตลาดและกลุ่มเป้าหมายมีการวางแผนเตรียมการ ทั้งในเรื่องของดีไซน์และแพ็กเกจจิ้ง แต่ละอุตสาหกรรมมีลักษณะและรายละเอียดแตกต่างกัน ผู้ประกอบการแต่ละคนก็ต้องรู้จักคู่ค้า และคู่แข่ง เพื่อหา competitive advantage ของตัวเองให้เจอ มิเช่นนั้น เราก็จะสู้คนอื่นไม่ได้” นายอาวุธ กล่าว
เป็นแง่คิดที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะไปสู่ตลาดโลก.
โสภาพร ควร์ซ