นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เมื่อ วันที่ 23 ม.ค.63 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประกาศการจัดอันดับดัชนีการรับรู้ การทุจริตของไทยในปี 62 โดยพบว่า ไทยได้ 36 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ร่วงจากปีก่อนที่อยู่อันดับ 99 และเป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน จากปีก่อนอยู่อันดับ 5 โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 ของโลกคือ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ได้ 87 คะแนน ตามด้วย ฟินแลนด์ 86 คะแนน, สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ 85 คะแนน, ส่วนประเทศอาเซียนอื่น บรูไน อยู่อันดับ 35, มาเลเซีย อันดับ 51, อินโดนีเซีย อันดับที่ 85 เวียดนาม อันดับ 96 เป็นต้น
“ในปีนี้ ไทยได้ 36 คะแนนเท่ากับปีก่อน แต่ปีนี้อันดับของไทยร่วงลง แสดงให้เห็นว่าพัฒนาการเรื่องการปราบปราม และการเอาใจใส่ในการป้องกันปัญหาการคอร์รัปชันของไทยย่ำอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ กระตือรือร้นป้องกันและแก้ไขปัญหาจนแซงหน้าไทยไปแล้ว โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่พัฒนาด้านนี้ได้ดีกว่าไทย”
นายมานะ กล่าวต่อว่า แม้ว่าอันดับโลกของไทยจะร่วงลง 2 อันดับ แต่หากดูในรายละเอียดพบว่า คะแนนในหลายๆด้านของไทยยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เช่น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะลดลง รวมทั้งยังพบว่า คะแนนเกี่ยวกับการเอาใจใส่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของภาคประชาชน และเอกชนเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ส่วนรัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาด้านนี้เพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการออกนโยบายเอื้อต่อพวกพ้องที่ยังคลุมเครืออยู่
ขณะเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นตัว และร่วมลงมือต่อต้านคนโกงจริงจังมากขึ้นเห็นได้จากประชาชนกล้าเปิดเผยพฤติกรรมฉ้อฉลที่ตนพบเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย จนนำไปสู่การดำเนินคดีจำนวนมาก
“ผมมองว่าคอร์รัปชันจะลดลงได้เมื่อข้าราชการ ทำตามกติกาและไม่ยอมให้ใครทำผิด ประชาชนต้องติดตาม ตรวจสอบ แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวใคร แต่ในความเป็นจริงวันนี้ยังมีหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนผิดหวัง บ่อยครั้งที่กลไกภาครัฐไม่โปร่งใส มีการใช้อำนาจและกฎหมายแบบ 2 มาตรฐาน แทรกแซงการบริหารราชการขององค์กรอิสระแบบทีใครทีมัน ขณะที่การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่ปรากฏ”.