นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเตรียมเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 23) ซึ่งเป็นการเปิดครั้งแรกในรอบ 13 ปีนับจากปี 2550 คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) ให้เอกชนเข้ามายื่นสำรวจได้ในเดือน เม.ย.นี้ และจะใช้เวลาพิจารณาอนุมัติแล้วเสร็จ ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนลงนามกับเอกชนได้ภายในเดือน ม.ค. 2564 โดยการเปิดให้ยื่นสำรวจครั้งนี้จะเน้นพื้นที่ในทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจขั้นต่ำ 1,500 ล้านบาท
หากไม่นับรวมการประมูลให้สิทธิ์สำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ เอราวัณบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานแล้วนั้น ประเทศไทยก็ไม่ได้เปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศมาตั้งแต่ปี 2550 โดยปี 2557 เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการเปิดให้ยื่นขอสำรวจแต่ก็ไม่สำเร็จและยกเลิกไป ซึ่งครั้งนั้นได้กำหนดแปลงในทะเลอ่าวไทยไว้ 6 แปลง ขณะที่การเปิดประมูลรอบใหม่ ต้องมาดูใหม่ว่าจะเปิดให้พื้นที่ใดบ้าง ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.พ.นี้ โดยเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจาก เอกชน เพราะประเทศไทยไม่ได้เปิดให้สัมปทานมานานแล้ว
“สำหรับแปลงบนบกที่ยังไม่สามารถนำมาเปิดให้ยื่นสำรวจได้ เพราะติดปัญหาระเบียบสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ยังไม่อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมสามารถขอเข้าไปใช้ประโยชน์สำหรับกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ จึงต้องใช้เวลาในการเจรจากับหน่วยงานต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป”
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศคิดเป็น 40% ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยมี ปริมาณการผลิตรวม 821,060 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัมปทานปิโตรเลียมอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลงและแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง สามารถส่งรายได้เข้ารัฐรวม 160,000 ล้านบาท นับเป็นกรมที่ส่งรายได้เข้าแผ่นดินสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ
นอกจากนี้ กรมยังเตรียมขับเคลื่อนแนวทางการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีศักยภาพและหากพัฒนาได้จริง จะทำให้เกิดความมั่นคงในระบบพลังงานไทยมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาจะอยู่บนเงื่อนไขที่ไม่เสียอธิปไตยทั้งสองฝ่าย.