สศช.ระบุ อีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศจะเหลือแต่หญิงแก่ เพราะหญิงไทยตายยากกว่าชายไทย ห่วงคนชราล้นประเทศจนทำให้คนหนุ่มสาวมีปัญหาดูแลผู้สูงอายุยาก
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานคาดการณ์ ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2563–2583 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคนในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคนในปี 2571 หลังจากนั้น จะลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ซึ่งในปี 2583 คาดประมาณว่า ประเทศไทยจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน
ทั้งนี้ ประชากรวัยเด็กแรกเกิด จนถึง 14 ปี มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 มีประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน คิดเป็น 16.9% ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน คิดเป็น 12.8% ในปี 2583 ส่วนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มี 12 ล้านคน คิดเป็น 18% เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน คิดเป็น 31.28% ในปี 2583 โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน
หลังจากนั้นประชากรวัยเด็กจะน้อยกว่าผู้สูงอายุตลอด ส่วนประชากรวัยแรงงาน อายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 59 ปี มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน คิดเป็น 65% ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน คิดเป็น 56% และในปี 2583 อัตรา ส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 25 63 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2583
น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับอัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยเพศหญิงเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และเพศชายเพิ่มขึ้นเป็น 76.8 ปีส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า คาดว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน
สศช.ยังรายงานว่า โครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาคในปี 2583 กรุงเทพ มีสัดส่วนประชากรวัยแรง งานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนี้ ภาคตะวันออกมีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด 5.3% ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดเรื่องผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) โดยกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ จะส่งเสริมเน้นเรื่องการออม ไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระและการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุได้มีการจัดทำแผนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น เน้นเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ ออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่น และสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ พร้อมจัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้าน-ในชุมชนตามระดับความจำเป็น ให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืน
สศช.เสนอแนะให้รัฐรับมือเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร 5 ด้านคือ 1.ด้านสังคม ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นประชากรที่มีคุณค่าในสังคม พัฒนาระบบบำนาญการออม สวัสดิการ และใช้นวัตกรรมเพื่ออำนวยสะดวกแก่ผู้สูงอายุ 2.ด้านเศรษฐกิจ เน้นการเพิ่มคุณภาพมากกว่าหาแรงงานทดแทน 3.ด้านการศึกษา ควบรวมโรงเรียนเล็กโดยคำนึงถึงความเสมอภาคและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา 4.ด้านสุขภาพอนามัยกระจายการบริการสาธารณสุขทั่วถึง และเท่าเทียมในทุกช่วงวัย และดูแลปัจจัยเสี่ยงต่อโรคสำคัญ 4 กลุ่มคือ หัวใจ และหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และระบบทางเดินหายใจเรื้อรังที่มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี 5.ด้านสิ่งแวดล้อม ปรับมาตรฐานการวัดมลพิษให้เป็นสากล “ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ ครม.ให้ความเป็นห่วงมากที่สุด เพราะผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แม้จะมีเงินอุดหนุนจากรัฐ-เบี้ยยังชีพ ก็ไม่เพียงพอจึงต้องเร่งให้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เริ่มต้นออมเงินเพื่อรับรอบวัยเกษียณในอนาคต รวมถึงอา ชีพอิสระหาบเร่ แผงลอย และเกษตรกร เป็นต้น”