THE ISSUES : “LTF RMF SSF” ใครดีกว่ากัน...

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

THE ISSUES : “LTF RMF SSF” ใครดีกว่ากัน...

Date Time: 14 ม.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาวใหม่ ด้วยการจัดตั้ง “กองทุนรวมเพื่อการออม” หรือ Super Savings Fund : SSF (กองทุน SSF)

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาวใหม่ ด้วยการจัดตั้ง “กองทุนรวมเพื่อการออม” หรือ Super Savings Fund : SSF (กองทุน SSF) เพื่อทดแทนการออมรูปแบบเดิมคือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long–Term Equity Fund) หรือ LTF ที่สิ้นสุดสิทธิประโยชน์ภาษีปี 2562

พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ภาษีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) หรือ RMF เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับกองทุนน้องใหม่อย่าง “SSF”

ดังนั้น ในปีนี้ ที่เพิ่งผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ และกำลังเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน จึงเกิดคำถามว่า หากต้องการออมเงินระยะยาวแล้ว การออมเงินแบบ LTF RMF กับกองทุนใหม่ SSF ใครจะดีกว่ากัน!!

สำหรับ LTF เดิมอนุญาตให้นักลงทุนนำเงินออมมาลงทุนได้ในสัดส่วน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ขณะที่ SSF ขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของรายได้ แต่ลดวงเงินเหลือไม่เกิน 200,000 บาท หมายความว่า เดิมคนที่มีรายได้ประมาณ 3.3 ล้านบาทต่อปี สามารถลงทุนใน LTF ได้สูงสุดประมาณ 495,000 บาทต่อปี ส่วนกองทุนใหม่ SSF หากคำนวณออกมาแล้ว เท่ากับว่า คนที่มีรายได้ 650,000 บาทต่อปี สามารถลงทุนกับ SSF ได้ 195,000 บาท เกือบเต็มเพดาน คือ ไม่เกิน 200,000 บาท

คนที่มีรายได้สูงๆหรือจะเรียกว่า “คนรวย” จะไม่สามารถนำเงินก้อนโตๆที่มากเกินกว่า 200,000 บาท ลงทุนใน SSF ได้ แต่กติกาใหม่นี้จะเพิ่มแรงจูงใจให้กับคนที่มีรายได้กลางๆ หรือคนชั้นกลาง มีเงินเดือนประมาณ 54,000 บาท สามารถออมเงินด้วยการลงทุนซื้อ SSF ได้มากขึ้น และยังนำมาลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

แสดงให้เห็นว่า LTF เป็นช่องโหว่ของกรมสรรพากร ที่ปล่อยให้คนมีรายได้สูงๆ อาศัยช่องทางนี้เป็นเส้นทางที่จะทำให้เสียภาษีน้อยลง แล้วยังมาพร้อมกับโปรโมชันห่วยๆ ของ บลจ. ลุ้นแจกกระเป๋า ทองคำ หรือตั๋วเครื่องบินในช่วงปลายปี เพื่อกระตุ้นให้คนซื้อ LTF เพียงเพื่อลดหย่อน
ภาษีจากกรมสรรพากรเพียงอย่างเดียว

“กองทุน SSF” จึงถือว่า ปิดช่องโหว่ของ LTF ได้เกือบทั้งหมด

โดยเฉพาะประเด็น “คนรวย” ที่ใช้สิทธิ์ LTF มีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี ทำให้ยอดผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอยู่ประมาณ 11 ล้านคนนั้น กรมสรรพากรต้องคืนภาษีให้สูงถึง 50% หรือประมาณ 5-6 ล้านคน จะต้องลดน้อยลงอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังสอดรับกับแผนการออมระยะยาวของสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะกองทุน LTF ต้องลงทุนเป็นระยะเวลา 7 ปี (ปฏิทิน) แต่ SSF ต้องลงทุนยาวถึง 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ โดยลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท

ส่วนกองทุนเดิมอย่าง RMF ที่สามารถออมเงินได้ในสัดส่วน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เท่ากับ RMF เป็นขาข้างที่สองเดินคู่ LTF เพราะเมื่อสองกองทุนรวมกันแล้ว จะลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 1 ล้านบาท

กระทรวงการคลังจึงอาศัยจังหวะยกเลิก LTF แล้วปรับปรุงเงื่อนไขในการลงทุน RMF ขึ้นมาใหม่

โดยเอาเงินที่ลงทุนใน SSF มาเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุน RMF ทำให้การลงทุนใน RMF จากที่เคยลงทุนได้ 15% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เปลี่ยนมาเป็น 30% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ต้องนำมารวมกับกองทุนการออมเพื่อ การเกษียณอายุอื่นๆ เช่น กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นต้น ทำให้คนมีรายได้สูงๆ ไม่สามารถลงทุนในกองทุน RMF ได้เต็มเพดาน 500,000 บาท

ดังนั้น โครงการของการออมเงินเพื่อการเกษียณรูปแบบใหม่ของ SSF และ RMF จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการออมเงินระยะยาว และแน่นอนว่า คนที่มีอายุยังน้อย หรือคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ ทั้งสองกองทุนนี้ ถือเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุนสำหรับอนาคต

ขณะที่ คนอายุเกินกว่า 45 ปี ไม่แนะนำให้เลือกลงทุน SSF แต่ขอแนะนำให้ลงทุน MRF จะดีที่สุด เพราะการลงทุนใน RMF นั้น อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถขายกองทุนได้ ไม่ใช่ 60 ปี

คนที่อายุ 50 ปี ลงทุนใน MRF ในระยะเวลา 5 ปีก็ขยายกองทุนได้แล้ว แต่หากซื้อกองทุน SSF จะขายได้ก็เมื่ออายุ 65 ปี

แต่ตอนนี้ ใครอยากจะลงทุนใน “กองทุน SSF” ต้องนอนหาวรอไปก่อน

แม้ว่า “SSF” จะผ่านความเห็นชอบจาก ครม.มาแล้วก็ตาม แต่กระทรวงการคลังและ ก.ล.ต.ยังไม่ประกาศหลักเกณฑ์ของกองทุนออกมาเสียที จึงไม่รู้ว่าคนที่พิจารณาติดภารกิจท่องเที่ยวปีใหม่ หรือจะรอเที่ยวฉลองตรุษจีนเสร็จก่อนถึงได้ยลโฉม.

วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ