พาณิชย์เดินหน้ากำหนดกำไรส่วนต่างราคายา ล่าสุด แบ่งกลุ่มยาแสนรายการเป็น 12 กลุ่มตามต้นทุน เพื่อศึกษาโครงการสร้างต้นทุน ราคาขาย กำไร ก่อนนำมาหาค่าเฉลี่ย และกำหนดให้แต่ละกลุ่ม รพ.เอกชนจะมีกำไรได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุน และเผยแพร่บนเว็บ dit.go.th
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยความคืบหน้าการกำหนดกำไรส่วนต่างราคายาของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อแก้ปัญหาราคายาแพงเกินจริงว่า มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยคณะทำงาน ประกอบด้วย กรม, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านยา ได้แบ่งกลุ่มยาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ส่งมาให้กรมกว่าแสนรายการออกเป็น 12 กลุ่มตามราคาต้นทุน โดยกลุ่ม 1 ราคาเม็ดละ 0-0.20 บาท, กลุ่ม 2 ราคา 0.20-0.50 บาท, กลุ่ม 3 ราคา 0.50-1 บาท, กลุ่ม 4 ราคา 1-5 บาท, กลุ่ม 5 ราคา 5-10 บาท, กลุ่ม 6 ราคา 10-50 บาท, กลุ่ม 7 ราคา 50-100 บาท, กลุ่ม 8 ราคา 100-500 บาท, กลุ่ม 9 ราคา 500-1,000 บาท, กลุ่ม 10 ราคา 1,000-5,000 บาท, กลุ่ม 11 ราคา 5,000-10,000 บาท และกลุ่ม 12 ราคา 10,000 บาท ขึ้นไป
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่แบ่งยาออกเป็น 12 กลุ่มแล้ว คณะทำงานจะศึกษาและคำนวณต้นทุน ราคาขาย กำไร เพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มก่อนที่จะกำหนดเพดานกำไรว่า ยาในแต่ละกลุ่มมีกำไรได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาต้นทุน แล้วจะประกาศให้โรงพยาบาลเอกชนรับทราบ เพื่อไม่ให้จำหน่ายยาที่แพงเกินไป รวมถึงเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมที่ dit.go.th หลังจากพบว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งคิดกำไรยาบางรายการสูงมากในระดับ 1,000-10,000% สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
“การแบ่งกลุ่มยาออกเป็น 12 กลุ่มราคา พบว่ายาที่มีราคา 10-50 บาท มี 45,000 รายการ รองลงมาเป็นราคา 1-5 บาท มี 26,000 รายการ เมื่อศึกษาและกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างได้แล้ว กรมจะประกาศขึ้นเว็บไซต์ dit.go.th ทันที โดยการกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างของโรงพยาบาลเอกชน เป็นมาตรการสำคัญ จึงต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ และผลกระทบทุกด้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”
ทั้งนี้ กรมไม่สามารถกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างของยาทุกรายการเป็นอัตราเดียวกันได้ทั้งหมด เพราะมีผลกระทบต่อผู้จำหน่ายและผู้ป่วยอย่างมาก เช่น ยาที่ซื้อมาในราคาเพียง 20 สตางค์ (สต.) หากกำหนดให้มีกำไรได้ไม่เกิน 100% เท่ากับให้ขายได้ในราคาไม่เกิน 40 สต. ยังถือว่าไม่แพงมาก และผู้ป่วยรับได้ แต่หากเป็นยาที่ต้นทุนสูงถึง 100,000 บาท ถ้ากำไรส่วนต่างไม่เกิน 100% เท่ากับสามารถตั้งราคาขายได้สูง 200,000 บาท จะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วย ดังนั้น ยาที่มีต้นทุนต่ำอาจปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนขายได้ในราคาสูงกว่ายาที่มีต้นทุนสูง
“กรมมีแนวคิดที่จะเผยแพร่ราคากลาง หรือค่าเฉลี่ยของต้นทุนยาแต่ละรายการ ที่ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำหนดไว้แล้วบนเว็บไซต์ข้างต้น เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ เปรียบเทียบราคาได้ว่า ยาแต่ละชนิดที่ซื้อไป มีต้นทุนอย่างไร เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อประชาชนรู้ต้นทุนแล้ว โรงพยาบาลก็อาจปรับลดราคาขายลงมาอยู่ในราคาที่เหมาะสม”
ขณะที่ความคืบหน้าในการนำค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน 5,000 รายการ เช่น ค่าเอกซเรย์, ค่าตรวจเลือด, ค่าห้องพักผู้ป่วย, ค่าอาหาร มาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ดแล้วจัดส่งให้โรงพยาบาลเอกชนนำไปติดตั้งในที่ที่เห็นได้ง่าย เพื่อให้ประชาชนสแกนเพื่อเปรียบเทียบค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง รวมถึงจะนำเผยแพร่บนเว็บไซต์ เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการไปแล้วกับยาว่า ล่าสุด อาจนำร่อง 300 รายการก่อน จากเดิมที่คาดว่านำร่อง 200 รายการในเร็วๆนี้
“ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากรมมีมาตรการดูแลการรักษาพยาบาล ค่ายาของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและโรงพยาบาลมากที่สุด ทั้งเรื่องของการสร้างการรับรู้เรื่องราคา การกำหนดกำไรส่วนต่าง เพื่อป้องกันโรงพยาบาลคิดราคายาสูงเกินจริง หรือแม้แต่มาตรการทางกฎหมายที่จะดำเนินการฟ้อง ร้องกรณีที่มีการร้องเรียนโรงพยาบาลเอารัด เอาเปรียบ เป็นต้น”.