ในช่วงปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่ดูเหมือนว่าจะมีความคึกคักและมีสีสันมากที่สุดธุรกิจหนึ่ง หนีไม่พ้นธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery : ฟู้ด ดีลิเวอรี) จากแอปพลิเคชันชื่อดังหลายแอป มีการประเมินกันว่าธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกมากมาย
จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยากลิ้มลองอาหารจากร้านดัง แต่ไม่อยากออกจากบ้าน หรือกลุ่มคนทำงานที่ต้องการปาร์ตี้ที่ออฟฟิศ คนที่ไม่ชอบรอคิว
จนล่าสุดเปิดให้บริการ “คลาวด์ คิทเช่น” เป็นครัวกลางที่รวบรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มมาไว้ในที่เดียว เพื่อช่วยลดข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของร้านอาหารในพื้นที่ต่างๆ หรือการเปิดครัวกลางโดยไม่ต้องมีหน้าร้านสำหรับการจัดส่งอาหารเพียงอย่างเดียว หรือการเปิดให้บริการเดินส่งอาหารในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร รวมถึงการให้ประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่ากันเช่นการจัดส่งและโปรโมชัน
ปกติหากมองภาพทั่วไปบริการจัดส่งอาหารหรือฟู้ด ดีลิเวอรี คงเป็นบริการธรรมดาๆ ส่งอาหารทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น อาหารสด ฟาสต์ฟู้ด อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเล อาหารพื้นเมืองชื่อดัง อาหารปิ่นโตที่ลงทุนเพียงเครื่องมืออุปกรณ์และใช้รถจักรยานยนต์รับส่งอาหารเท่านั้น
แต่เมื่อมองลึกลงไปมีการลงทุนอย่างมหาศาล มีการนำ Big Data มาวิเคราะห์และจับกระแสตลาด เป็นธุรกิจที่ผู้ให้บริการยอมขาดทุนเพื่อไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในอนาคต
นับเป็นอีกกระแสธุรกิจในยุคของ Digital Disruption เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจทัลและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบผู้ประกอบการร้านอาหารในประเทศไทย เป็นบริการในรูปแบบ Online to Offline (O2O)
ในช่วงปีที่ผ่านมาปัญหาเศรษฐกิจได้สร้างผลกระทบไปหลากหลายธุรกิจ ซึ่งร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจเต็มๆ แต่ก็มีหลายๆร้านที่เร่งปรับตัวเองให้ธุรกิจมีอัตราเติบโตต่อไปที่เห็นได้ชัดเจนนอกเหนือจากการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆแล้วการเข้าซื้อกิจการนับเป็นอีกทางเลือกที่กิจการขนาดใหญ่ใช้เป็นทางเลือก
อีกทั้งจับมือให้บริการ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” ยังผลให้ผลประกอบการกลับมาดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงการบริหารจัดการทั้งส่วนของหน้าร้าน และความรวดเร็วในการทำอาหารให้ทันออเดอร์ลูกค้าเพื่อจัดส่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกันว่าในปี 2563 ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยจะมีมูลค่ารวมถึง 4.37-4.41 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.4-2.4 จากปี 2562
ในปี 2563 ทิศทางของธุรกิจร้านอาหารจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจอย่างโดดเด่นมานำเสนอว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ผู้ดำเนินธุรกิจเชนร้านอาหารชื่อดังที่มี บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา, สเปซ คิวและเรดซัน
“ช่วงปีที่ผ่านมาวงการธุรกิจร้านอาหารนับว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” เป็นการให้บริการความสะดวกแก่ผู้บริโภคจะสามารถรับอาหารที่ต้องการบริโภคจากสถานที่ใดก็ตามตามที่ต้องการ ทาง “ฟู้ด แพชชั่น” มองว่าธุรกิจดังกล่าวได้รับความนิยมสูงมากอัตราเติบโตสูงถึง 35%”
ช่วงแรก “ฟู้ด แพชชั่น” มองว่า จะมากระทบหรือ Disrupt ธุรกิจร้านอาหาร แต่เมื่อมองระยะต่อไปอย่างแท้จริงแล้ว กลับกลายเข้ามาเพิ่มช่องทาง เป็นประโยชน์กับธุรกิจร้านอาหาร มีโอกาสเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ๆเข้ามา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทางเรามองเป็นโอกาส ไม่ได้มองเป็นเรื่อง Disrupt
ยกตัวอย่างเช่นร้านอาหารแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า เดิมมีฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูงที่มาฉลองหรือสนุกสนานกับประสบการณ์ปิ้งย่าง แต่ลูกค้าที่ใช้บริการ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” เป็นลูกค้าไม่ชอบฝ่าฟันรถติดหรือติดฝน มีเวลาน้อยนั้น ทางเรากลับเข้าถึงกลุ่มลูกค้านี้ได้เพิ่มขึ้น ทำให้ทางบาร์บีคิวพลาซ่าซึ่งปกติจะขายเมนูปิ้งย่าง ต้องออกเมนูจานเดียวมารองรับความต้องการ ในแง่ธุรกิจถือว่าเป็นโอกาส 2 เด้ง
“หลังจากที่เราได้ร่วมกับ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” เป็นซอฟต์ลอนช์ไปเมื่อเดือน พ.ย.62 ที่ผ่านมาร่วมกับแกร็บฟูด ปรากฏว่ายอดออเดอร์พุ่งสูงถึง 35% เมื่อเทียบกับการเข้าไปใช้บริการภายในร้าน ซึ่งนับว่าเป็นการเติมเต็มต่อยอดขายให้บริษัทเป็นโอกาสของบริษัทต้องมองแบบบี้ หากเรามองว่าเป็นเรื่อง Disrupt อะไรต่างๆก็ต้องลดลง แต่มองโอกาสจะมีการเพิ่มๆขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องปรับตัว” นางชาตยากล่าว
การบริการผ่าน “ฟู้ด ดีลิเวอรี” เป็นการอำนวยความสะดวกรวดเร็ว แน่นอนว่าในอนาคตเราต้องการการขยายโลเกชันออกไป เป็นโอกาสที่ดีในการเข้าถึงลูกค้า เพราะการขยายไปใกล้ๆ ผู้บริโภคจะทำให้ต้นทุนค่าจัดส่งถูกลง ซึ่งปัจจุบันการส่งอาหารให้ลูกค้ายังข้ามเขตกันไปมาอยู่ ยังทำให้ค่าจัดส่งแพง
“เราเป็นพาร์ตเนอร์เอกซ์คลูซีฟร่วมกับแกร็บฟู้ด แต่ในอนาคตเราต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมทั้งด้านตัวโปรดักส์หรืออาหารที่จะส่งมอบผ่านบริการ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” และการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งเรามีความเชื่อว่า ธุรกิจดังกล่าวจะไปได้ดีในอนาคตและทั้งการช่วยรณรงค์รักษ์โลก ลดเรื่องขยะที่เป็นนโยบายสำคัญของบริษัทด้วย”
ส่วนโมเดลของธุรกิจ “คลาวด์ คิทเช่น” นับว่ามีความน่าสนใจศึกษาและเป็นไปได้ในอนาคต เพราะทาง “ฟู้ด แพชชั่น” มีแบรนด์ร้านอาหารหลายแบรนด์ ถ้าจะทำก็จะทำในส่วนแบรนด์ของเรา ให้ลูกค้าได้เข้าถึงแบรนด์ที่หลากหลายของเรา มองเป็นโอกาสทั้งนั้น
ทิศทางปีนี้ มองว่าจะยิ่งมีโอกาสเติบโตอีกมากยิ่งการแข่งขันในธุรกิจ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” มีการแข่งขันรุนแรง ผู้ให้บริการแต่ละรายจะหาฟีเจอร์ใหม่ๆ มานำเสนอให้ผู้บริโภค ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นการนำเสนอประโยชน์ให้ผู้บริโภค
เรามองจุดนี้ถึงกับได้เตรียมพร้อมขยายฮับ การจัดส่งบาร์บีคิวพลาซ่า เพิ่มจาก 21 จุด เป็น 50 จุด กับเป้าหมายเข้าถึงลูกค้าเข้าใกล้ลูกค้าด้วยค่าจัดส่งที่ถูกลง รวมทั้งการเตรียมเมนูใหม่สำหรับธุรกิจ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” โดยเฉพาะอีก 50 เมนูใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าให้หลากหลาย และการค้นหาแพ็กเกจและอุปกรณ์สำหรับธุรกิจนี้ใหม่ ไม่สร้างปัญหาขยะเพิ่มเติม ลดการใช้แบบ single use และให้ประสบการณ์เหมือนกับการรับประทานในร้าน
สำหรับการมองภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563 ทาง “ฟู้ด แพชชั่น” มองว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัวเหมือนกับที่หลายสำนักมองกันอยู่ภาวะส่งออกและการท่องเที่ยว การลงทุนและการใช้จ่ายอยู่ในภาวะชะลอตัว ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามา
“ของเราเองเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เข้มข้นและลึกซึ้งต่อไป เรามองว่าผู้บริโภคยังต้องกินต้องใช้ แต่พฤติกรรมการบริโภคอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ช่องทางดิจิทัลทั้งอีคอมเมิร์ซ เอ็มคอมเมิร์ซจะมีบทบาทสำคัญเหมือนกับความนิยมสั่งอาหารผ่าน “ฟู้ด ดีลิเวอรี” เราต้องตามให้ทันและมองเป็นโอกาส”
“ธุรกิจ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” เป็นธุรกิจที่มาแรงมากๆ จากข้อมูลพบว่าในปีที่ผ่านมาธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงถึง 33,000-35,000 ล้านบาท นี่แค่เฉพาะ Application สั่งอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากร้านอาหารขนาดเล็กๆ ที่ไม่มีหน้าร้าน ที่เรียกว่า Ghost Store เยอะมาก”
นับเป็นเรื่องใหญ่มากของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย แต่จริงๆแล้ว “ฟู้ด ดีลิเวอรี” ไม่ได้เพิ่งเกิด เพียงแต่อยู่ที่ว่าบริษัทไหนมีความพร้อมมากกว่ากัน บริษัทไหนยังไม่ได้เตรียมตัวถือว่าช้าไปแล้วของ “โออิชิ” เริ่มมาสักพักใหญ่ๆ
ในปีที่ผ่านมาคิดว่าธุรกิจ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” มีอัตราเติบโตราว 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่โดยภาพรวมแล้วจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 8% ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในไทย สำหรับโออิชิหากเป็น “ฟู้ด ดีลิเวอรี” ในแง่ของรายได้ถือว่ายังน้อยอยู่ สัดส่วนเพียง 2.3% เท่านั้น และเติบโตมากจากแพลตฟอร์มของโออิชิเองด้วยผ่านบริการ 1773 และ www.oishidelivery.com ส่วนอีก 0.2% มาจาก food applicators เท่านั้น ยังน้อยอยู่ โดยได้เริ่มให้จับมือกับทางผู้ให้บริการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยจับมือกับแกร็บฟู้ด ตามด้วยไลน์แมนในเดือน ต.ค.และฟู้ดแพนด้าในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
พร้อมอำนวยความสะดวกให้นักกิน และคนรักอาหารญี่ปุ่นเสิร์ฟเมนูอาหารญี่ปุ่นหลากหลาย ทั้งเมนูดงบุริ ข้าวหน้าล้น เพิ่มเนื้อ × 2 อาทิ ข้าวหน้าล้นหมูสไปซี่ไข่ออนเซน, ข้าวหน้าล้นเบคอนย่าง, ข้าวหน้าลิ้นหมูย่างมิโซะ ฯลฯ จากครัว “คาคาชิ” และเมนูราเมน อร่อยเส้น อร่อยซุป อาทิ ทงคัตสึ ชาชู ราเมน, มิโซะ แซลมอน ราเมน, โชยุ คาคุนิ ราเมน ฯลฯ จากครัว “โออิชิ ราเมน” จัดเต็มรวมกว่า 80 เมนู พร้อมส่งตรงความอร่อยสดๆร้อนๆจากร้านถึงหน้าประตูบ้าน
“ถามว่าทำไมเพิ่งเริ่มทำ จริงๆแล้ว “โออิชิ” เตรียมพร้อมอยู่ และมี “ดีลิเวอรี” แพลตฟอร์มของเรา แต่สเกลไม่ใหญ่ โดย ทางร้านชาบูชิและร้านโออิชิไม่มีบริการจัดส่งอาหาร แต่มีร้าน โออิชิ ราเมน, กากาชิ พวกนี้จะมี 1173 และออนไลน์ มีสัดส่วนรายได้ 66% ของร้านที่มีดีลิเวอรี แต่หากเป็น Food Applicators 26% จากแกร็บฟู้ด, ไลน์แมนและฟู้ดแพนด้า ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วตัวที่เป็นแพลตฟอร์มของเรายังมากกว่า เราก็เลยไม่ได้ทุ่ม ไปทั้งหมดไปกับ Applicators เหล่านั้น”
สรุปโออิชิ มี 3 แพลตฟอร์ม คือ 1773 ลูกค้าสามารถโทร.มาสั่งอาหารที่คอลเซ็นเตอร์ได้เลย จะมีเมนูดีลิเวอรีเป็นมาตรฐานเมนูเดียว, ทางออนไลน์ สั่งได้เป็นเมนูเดียวกันกับ 1773 แต่ฟีเจอร์นี้ที่ดีคือสามารถสั่งและเลือกรับสาขาไหนก็ได้ถ้าไม่ให้ไปส่ง เป็นจุดเด่นทางออนไลน์
สั่งผ่านมือถือได้ด้วยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์ และ food applicators ผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ เพราะเจ้าใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ที่เราต้องการมากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมมากกว่าแพลตฟอร์มของเรา โออิชิใหญ่ กว่าเยอะกว่า ทาง food applicators ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เหมือนเรา แต่เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
อีกด้านพฤติกรรมของลูกค้าเวลาสั่งจานเดียว ไม่เยอะจะสั่งผ่าน food applicators เป็นหลัก ประมาณ 200 บาทต่อครั้ง แต่สั่งผ่านในเครือข่ายของเราขนาดจะใหญ่กินที่บ้านหรือออฟฟิศจะมากกว่า ต่อครั้ง 600-800 บาท พฤติกรรมของผู้บริโภคต่างกัน
สิ่งที่เราทำ “ดีลิเวอรี” ขึ้นมาจึงสร้างหลายแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ต้องการกินเวลาไหนก็ต้องได้กิน พูดง่ายๆ คือต้องการความสะดวกสบาย อยากกินอะไร กินเวลาใดได้หมด
ล่าสุด ที่เราเพิ่งเปิดตัวไปคือชาบูชิ 24 ชั่วโมง มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแน่นตลอด แม้ไม่เกี่ยวกับดีลิเวอรีแต่กำลังจะบอกว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การรับประทานเปลี่ยนไป ทำไมเราต้องเปิดแพลตฟอร์มที่แตกต่างสมัยก่อน
คนต้องการความสะดวกสบาย กินเมื่อไรก็ได้กิน เลยเป็นที่มา โออิชิ ทำแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น ในอนาคต เราจะมีการทำตัวแอปพลิเคชัน Bevfood จะเริ่มที่ โออิชิก่อน แอปพลิเคชันนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจอาหารของไทยเบฟในอนาคต ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ได้แก่ โออิชิ แกรนด์, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, นิกุยะ, ชาบูชิ, โฮว ยู, โออิชิ ราเมน และคาคาชิ เป็นต้น
เบื้องต้นจะทำเป็นแอป แตะเข้าไป จะขึ้น membership เปรียบเสมือนบัตรสมาชิกของโออิชิ ตอนเวลาจ่ายเงินจะทำการสะสมแต้ม ทุกๆ 25 บาทจะกลายเป็น 1 คะแนน เท่ากับ 1 บาท เอาไปใช้เป็นส่วนลดในครั้งต่อไปได้ มีคะแนนเท่าไร นำไปเป็นส่วนลดได้เลย
อีกฟีเจอร์หนึ่งเป็นเรื่องโปรโมชัน บอกว่ามีโปรอะไรบ้างในขณะนั้น รวมถึงจะมีส่วนลดอะไรบ้างบอกหมด ต่อไปจะมีคูปอง หรือรางวัลอะไรที่เราจะให้พิเศษกับลูกค้าส่งทางนี้ได้เลย เช่นคูปองส่วนลดพิเศษ 500 บาท นำไปใช้ได้เลย คูปองวันเกิด หรืออะไรก็ได้คือเราสามารถออกแบบโปรโมชันให้เข้ากับลูกค้า ในอนาคตลูกค้าอาจจะได้รับคูปองโปรโมชันไม่เหมือนกัน เพราะแอปนี้จะเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคได้ กินอะไร ที่ไหน ตอบโจทย์โปรโมชันให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
ทางโออิชิ กำลังพัฒนาแอปนี้ ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาในช่วงสะสมข้อมูลผู้บริโภค ในอนาคตจะนำ AI มาใช้ ผู้บริโภคจะได้ใช้แอปนี้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ต่อไปแอปนี้จะสั่งอาหารได้ จ่ายเงินผ่านแอปได้ซึ่งกำลังทำงานร่วมกับธนาคารอยู่ ถ้าถึงตอนนั้นจะรับรู้ถึงพฤติกรรมการรับประทานได้เลย และจัดโปรให้ตรงกับความต้องการ กินกี่บาท ชอบกินตอนไหน กินอะไร ต่อไปผู้บริโภคหรือลูกค้าเข้าร้านมารู้เลยว่าจะกินอะไร จะส่งอะไรให้ ตอนนี้อยู่ระหว่างเฟสแรกอยู่ฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดจองโต๊ะได้ ต่อไปจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ
ในอนาคตเรากำลังดูว่า “คลาวด์ คิทเช่น” ว่ามีจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน จริงๆก็เตรียมไว้ แต่มีคนเปิดตัวก่อนเรา เลยดูว่ามีโมเดลอะไรไหม อาศัยการเรียนรู้จากคนอื่นด้วย เพราะมีความยากอยู่ในด้านการปฏิบัติการ ในด้านโปรแกรม เทคโนโลยีไม่ยาก ถ้าจัดการไม่เป็นจะลำบาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้ทำธุรกิจอาหารจริงๆ ไม่ง่าย โดยเฉพาะเขาไม่ได้ทำเพียงร้านเดียว มิกซ์แอนด์แมตช์มากกว่า 1 ไอเท็มขึ้นไปยาก
“ธุรกิจก็เป็นแบบนี้ มีขึ้นมีลง ในช่วงขาลงก็มีคนขึ้นมา ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ทุกๆ เวลาของการเปลี่ยนแปลงคือโอกาส เช่นเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดี คนไม่ออกไปกินข้าวนอกบ้าน ดีลิเวอรีเกิดขึ้นมา ร้านอาหารเล็กๆเกิดรายได้ขึ้นเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ร้านอาหารทั่วไปที่เคยขายได้มากขึ้นกลับขายได้น้อยลง มันอยู่ที่ขาขึ้น ขาลงของใคร”
สิ่งที่เรามองต่อไปว่า สมัยก่อนปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่สมัยนี้กลับเป็นปลาเล็กกินปลาใหญ่ เพราะไวกว่า แต่ปัจจุบันปลาใหญ่ดันไวด้วย และใหญ่ด้วย ปลาเล็กตายแน่นอน กลายเป็นว่ายุคนี้เป็นยุคของการแข่งขัน เปลี่ยนแปลง แผนธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
เมื่อถึงยุคดิจิทัล ร้านเล็กๆอยู่ได้ แต่ในอนาคต ปลาใหญ่ที่เคยเดินอุ้ยอ้าย แต่ตอนนี้ว่ายได้เร็วเหมือนปลาเล็ก เชื่อว่าปลาเล็กตายแน่นอน
“ในฐานะเป็นผู้นำธุรกิจ เราปรับตัวตลอดเวลา โออิชิปีที่แล้วที่บอกว่าแย่ ยังทำตัวเลขได้ดี เพียงแต่ว่าเราต้องปรับตัว ปรับแพลตฟอร์ม วิธีการทำธุรกิจใหม่ตลอดเวลา” นายไพศาลกล่าวทิ้งท้ายถึงสูตรสำเร็จของธุรกิจร้านอาหารในยุคปรับตัวรับกระแส Digital Disruption.
ทีมเศรษฐกิจ