นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันที่ 26 พ.ย.62 กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการแรก เป็นมาตรการที่ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และเกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ มาตรการ 2 คือการลงทุนในระดับพื้นที่หรือชุมชน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งการดูแลเกษตรกรผ่านมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ขณะที่มาตรการ 3 การดูแลให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น โดยจะดึงธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ร่วมด้วย ส่วนรายละเอียดจะเปิดเผยอีกครั้งหลังจาก ครม.เห็นชอบแล้ว “หวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะช่วยดูแลเศรษฐกิจในขณะนี้ให้มีแรงขับเคลื่อนท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว”
ส่วนกองทุนรวมใหม่เพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะหมดสิทธิประโยชน์ปี 62 สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สภาตลาดทุนไทยและกรมสรรพากร หาข้อสรุปร่วมกัน โดยเบื้องต้นกองทุนใหม่จะมีระยะการออมที่ยาวกว่า เพื่อจูงใจให้คนซื้อมากขึ้น รวมถึงอาจกำหนดให้ประชาชนสามารถซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) รวมกับกองทุนใหม่ได้ไม่เกิน 500,000 บาท คาดจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ก่อนสิ้นปี 62
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสิ้นปีนี้ว่า ขณะนี้การดูแลเศรษฐกิจเหลืออยู่ขาเดียว คือกระทรวงการคลังจากเมื่อก่อนมี 4 สาขา ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีกลไกที่เกี่ยวข้องมาก ทั้งเรื่องการส่งออก ค่าครองชีพ การเบิกจ่ายภาครัฐ การดูแลภาคเกษตร ดังนั้น กระทรวงต่างๆซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน “กระทรวงการคลังก็ทำในส่วนที่ตัวเองทำได้ คือกระตุ้นการบริโภคให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นและดึงเอกชนมาลงทุน ส่วนเรื่องอื่นๆอย่างการส่งออก ฯลฯ ต้องถามผู้ที่รับผิดชอบในแต่ละกระทรวงเอง แต่ผมคิดว่าเขาก็พยายามทำให้ดีอยู่แล้ว”.