เปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน กฟผ.เรียนรู้ทั่วโลกปรับใช้ในไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน กฟผ.เรียนรู้ทั่วโลกปรับใช้ในไทย

Date Time: 26 พ.ย. 2562 09:42 น.

Summary

  • กฟผ.เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน สู่พลังงานลม แดด น้ำ วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตร ย้ำไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีจากทั่วโลก แล้วนำมาปรับใช้

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

กฟผ.เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน สู่พลังงานลม แดด น้ำ วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตร ย้ำไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีจากทั่วโลก แล้วนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ขณะนี้ได้นำร่องในหลายพื้นที่ของประเทศแล้ว

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยระหว่างการนำสื่อมวลชนศึกษาดูงานบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งโปรตุเกส (Energias de Portugal : EDP) ณ เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ว่า เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร ทั้งในส่วนการพยากรณ์ การควบคุมการผลิต รวมถึงการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้การใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศและระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เมื่อทิศทางพลังงานโลกกำลังปรับเปลี่ยน และหลายประเทศในโลก ก็กำลังเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน ไปสู่พลังงานลม แดด น้ำ และวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ซึ่ง กฟผ.ก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วยเช่นกัน การดูงานโรงไฟฟ้าทั้งจากสเปน และโปรตุเกส เพื่อดูวิธีการดำเนินงานและรับมือ เพราะทั้ง 2 ประเทศ ถือเป็นประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 50% ของกำลังการผลิตในประเทศ และปรับแผนการผลิตไฟฟ้า มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว”

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้า ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่งคงของระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งขณะนี้ กฟผ.ได้ทดลองและศึกษาวิธีการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าในหลายๆพื้นที่ของประเทศ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยี และปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เช่น ทดลองการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าวังน้อย กลางวันผลิตไฟฟ้า 20-30% กลางคืน 70-80% ซึ่งปรับตามความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประชาชน อดีตช่วงพีก จะอยู่ช่วง 14.00-16.00 น. ปัจจุบันเป็นเวลา 18.00-24.00 น. ซึ่งแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นลักษณะนี้ มาเป็นเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา

นายพัฒนากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ตั้งศูนย์พยากรณ์การพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการตั้งศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงวัน ซึ่ง กฟผ.ได้นำร่องศึกษาร่วมกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กหรือเอสพีพี ส่วนการทดลองโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าตกดับไม่พอใช้นั้น กฟผ.จะนำร่องในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยตามแผนงานจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับพื้นที่

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเกาะติดการกำหนดนโยบายพลังงานของรัฐบาลด้วยว่า จะกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นสัดส่วนเท่าใดและปีใดในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ไทย (Power Development Plan) หรือแผนพีดีพีด้วย ซึ่งรัฐบาลกำลังจะทบทวนแผนพีดีพี 2018 ใหม่ ให้สอดรับกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน

ด้านนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า การทดลองเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าสู่พลังงานหมุนเวียนนั้น จากผลการศึกษาของ กฟผ. พบว่า ความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ แต่ที่มีศักยภาพ คือ ที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี แต่จะสร้างได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันประเทศ ไทยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง ชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำร่องการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล หากได้ผลดี ก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ