THE ISSUES : “ชิมช้อปใช้” ยังไม่จบ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

THE ISSUES : “ชิมช้อปใช้” ยังไม่จบ

Date Time: 19 พ.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • หลังจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชน นับตั้งแต่ชิมช้อปใช้ เฟสแรก เฟสสอง และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

หลังจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชน นับตั้งแต่ชิมช้อปใช้ เฟสแรก เฟสสอง และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติคลอดมาตรการชิมช้อปใช้เฟสที่ 3 เพื่อขยายระยะเวลาของมาตรการเฟสแรก และเฟสที่ 2 ออกไป จากเดิมสิ้นสุดใน วันที่ 31 ธ.ค.นี้ ไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ลงทะเบียนไม่ทันสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมเฟสที่ 3 ในรอบนี้ ได้อีก 2 ล้านคน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 62/2563 และขยายผลไปจนถึงตรุษจีนปีหน้านั้น

มีสาเหตุหลักมาจากผลการลงทะเบียนโครงการชิมช้อปใช้ในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 มีประชาชนให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการมากถึง 13 ล้านคน แบ่งออกเป็น เฟสที่ 1 จำนวน 10 ล้านคน และเฟสที่ 2 อีก 3 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้พบว่าประชาชนที่ลงทะเบียนใช้จ่ายเงินในกระเป๋าเงินช่องที่ 1 ของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่รัฐบาลสนับสนุนแบบให้ฟรี คนละ 1,000 บาทเพียงเท่านั้น

โดยไม่สนใจเข้าไปใช้สิทธิพิเศษที่กระทรวงการคลังมอบให้ในกระเป๋าเงินช่องที่ 2 ซึ่งมีการคืนเงิน (แคชแบ็ก) ให้ถึง 15% สูงสุดไม่เกิน 20% หากมียอดใช้จ่าย 30,000 บาท ได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท หรือ 15% และหากใช้จ่ายมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ในส่วนนี้จะมีการชดเชยให้สูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท หรือ 20% รวมเป็นเงินที่กระทรวงการคลังจะชดเชยให้สูงสุดถึง 8,500 บาทก็ตามแต่จนถึงขณะนี้ ยอดการใช้จ่ายในกระเป๋าใบที่ 2 ก็ยังมีเล็ก น้อยเพียงแค่ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่กระเป๋าเงินช่องที่ 1 ที่รัฐบาลแจกฟรีคนละ 1,000 บาท กลับมียอดเบิกเงินไปแล้ว 11,000 ล้านบาท

ดังนั้น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จึงประกาศเข็นมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ระยะที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่ออุดรอยรั่วจากการดำเนินการชิมช้อปใช้ทั้ง 2 เฟส ที่ผ่านมา

“ชิมช้อปใช้” เฟส 3 ในครั้งนี้ จึงถือเอาโอกาสทองในช่วงของการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี

สั่งปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆที่สร้างความยุ่งยากให้กับฝั่งประชาชนและผู้ประกอบการ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สามารถใช้จ่ายเงินในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเองที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมทำไม่ได้ และยังผ่อนปรนให้ประชาชนที่ลงทะเบียนในเฟส 1 และ 2 รวมถึงเฟสที่ 3 สามารถใช้เงินทั้ง 2 กระเป๋าในจังหวัดใดก็ได้ด้วย

นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนเวลาลงทะเบียน จากเดิมตั้งแต่ เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป เปลี่ยนมาเป็น 08.00 น. และเวลา 18.00 น. พร้อมยังได้กันสิทธิพิเศษให้แก่ “ผู้สูงอายุ” อีกด้วย

โดยผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จำนวน 500,000 คน จะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.2562 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าจะครบจำนวนตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากเปิดลงทะเบียนให้แก่ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการในเฟสที่ 3 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนทางด้านผู้ประกอบการและร้านค้า ก็มีการปรับปรุงให้ขยายวงกว้างมากขึ้น จากเดิมจำกัดให้เฉพาะร้านค้า OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าประชารัฐ โฮมสเตย์ และโรงแรม ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่เพียงบางแห่ง ซึ่งมีธุรกิจและบริการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชนบท

ล่าสุด กระทรวงการคลังตัดสินใจดึงโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว เข้าร่วมโครงการ เช่น เครือโรงแรมเซ็นทารา, ศรีพันวา, ใบหยก แอคคอร์, ดุสิต, ชาเทรียม, ไฮแอท, แมริออท และรีสอร์ตอื่นๆ ทั่วประเทศกว่า 4,600 แห่ง เพื่อขยายร้านค้าที่ชูป้าย “ชิมช้อปใช้” ให้ได้ตามเป้าหมาย 200,000 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 180,000 แห่งทั่วประเทศ

และที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีการร้องขอให้กระทรวงการคลังไฟเขียวตั้งแต่เฟสแรก ก็ถูกผ่อนปรนในครั้งนี้คือ การซื้อ “แพ็กเกจทัวร์” เพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหารและที่พัก ก็เพิ่งจะได้รับอานิสงส์ในรอบนี้

แต่ที่เป็นไฮไลต์ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากนี้คือ “พยง ศรีวณิช” เอ็มดีธนาคารกรุงไทย ที่ออกหมัดเด็ดเตรียมแจก “ทองคำ” เปิดโอกาสให้ประชาชนและร้านค้า ได้ลุ้นโชคในโครงการ “ชิมช้อปใช้” ทุกๆ สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.2563

ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามหาหนทางเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาให้กระเตื้องขึ้น ไม่ดิ่งเหว หรือถดถอยไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้.

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ