น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจของภูมิภาคต่างๆทั่วโลกปี 62 โดยพบว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 7 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรวม 60% ของการผลิตโลก มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบกับปี 61 รวมทั้งหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่ 225% ของจีดีพี ทำให้สะท้อนถึงความอ่อนแอของภาคการเงินสาธารณะในทุกภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงในด้านอื่นตามมา เช่น การจ้างงาน การจัดสวัสดิการของภาครัฐแก่ประชาชน ราคาพลังงาน เป็นต้น
สำหรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่สภาเศรษฐกิจโลกได้จัดอันดับนั้นพบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.วิกฤติทางการเงิน 2.การโจมตีทางไซเบอร์ 3.ภาวะการว่างงาน 4.วิกฤติราคาพลังงาน 5.ความล้มเหลวของรัฐบาล 6.ความวุ่นวายทางสังคม 7.การโจรกรรมข้อมูล 8.ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 9.การขาดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 10.เศรษฐกิจฟองสบู่
ขณะที่ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจในไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจฟองสบู่ 2.ความล้มเหลวของรัฐบาล 3.การโจมตีทางไซเบอร์ 4.ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโดยมนุษย์ และ 5.ความไม่มั่นคงทางสังคม ส่วน 10 อันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้แก่ 1. ภัยธรรมชาติ 2.การโจมตีทางไซเบอร์ 3.ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 4.วิกฤตการณ์ทางการเงิน 5. เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรง 6.เศรษฐกิจฟองสบู่ 7.การโจรกรรมข้อมูล 8.วิกฤติราคาพลังงาน 9.ภาวการณ์ว่างงาน 10.ความล้มเหลวของรัฐบาล
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติม เกี่ยวกับความเสี่ยงการทำธุรกิจในไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมทั้งหาแนวทางมาตรการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สนค.จะติดตามรายงานผลสำรวจ การจัดอันดับและการศึกษาต่างๆ ขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพื่อเผยแพร่ประเด็นเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ ให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกันเพื่อส่งเสริมการค้าเชิงรุกและสร้างขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้เพิ่มขึ้น”.