นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานความคืบหน้าของมาสเตอร์แพลน (แผนแม่บท) พัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อ จำนวน 2,325 ไร่ โดยกำหนดถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องพัฒนา อาทิ โรงกำจัดขยะ โรงปั่นไฟฟ้า การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ และแนวคิดการพัฒนาทางเดินยกระดับ (สกายวอล์ก) ให้พิจารณา ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบของสกายวอล์กเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ในศูนย์พหลโยธิน ให้สามารถเดินทางเชื่อมต่ออย่างสะดวก โดยระยะแรก จะพัฒนาสกายวอล์ก เชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีจตุจักร คล้ายกับสกายวอล์กในสถานีรถไฟใหญ่ๆของญี่ปุ่น ที่มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านสะดวกซื้อต่างๆ และช่องทางให้บริการรถกอล์ฟ หรือรถไฟฟ้า เป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารเดินทาง
“สกายวอล์กในจุดนี้ ต้องมีร้านค้าให้บริการ และมีระบบขนส่งบางอย่างที่ให้ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น ดังนั้นก็อาจเป็นสกายวอล์กที่มีทั้งทางเดิน มีรถกอล์ฟ หรือมีรถไฟฟ้าให้บริการ”
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสกายวอล์กแห่งนี้ ร.ฟ.ท.กำลังจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อเปิดประมูลในปีหน้า โดยเปิดประมูลเป็น 1 สัญญาเอกชนที่ชนะการประมูล ต้องเป็นผู้ที่มีแผนพัฒนาสกายวอล์ก รวมการพัฒนาระบบขนส่งอย่างเหมาะสม และเสนอให้ผลตอบแทน ร.ฟ.ท.มากที่สุด
สำหรับความคืบหน้าของการเปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อแปลงเอ ขนาดที่ดิน 32 ไร่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท ร.ฟ.ท.ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาว่าโครงการดังกล่าว จะใช้ข้อกำหนดพีพีพีปี 2562 หรือไม่ เพราะหากเข้าข่ายก็สามารถเปิดประมูลได้ทันที เนื่องจากเงื่อนไขพีพีพีปี 2562 กำหนดว่าการร่วมทุนพื้นที่เชิงพาณิชย์ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่สามารถประมูลได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพีพีพี.