นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า เตรียมพิจารณากำหนดให้ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ขยับจากการควบคุมภายใต้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั่วไป เป็น มอก.ภาคบังคับ เนื่องจากได้มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากว่า ถุงพลาสติกบรรจุอาหารหลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน เช่น ร้านค้าโจ๊ก หรือร้านก๋วยเตี๋ยวใช้ปากกาเมจิเขียนด้านนอกถุง แต่สีเมจิทะลุเข้าไปปนเปื้อนในอาหาร สร้างความไม่สบายใจให้ผู้บริโภคอย่างมาก ซึ่งจะใช้ มอก.ภาคบังคับพลาสติก เฉพาะถุงพลาสติกใส่อาหารเท่านั้น เพราะสัมผัสอาหารโดยตรง จะไม่บังคับถุงพลาสติก ใส่ขยะ ใส่สินค้าอื่นๆ
สำหรับมาตรฐานถุงพลาสติกบรรจุอาหารตามมาตรฐาน มอก. ตามจะมีการทดสอบในเรื่องอุณหภูมิประเภทร้อนต้องทนอุณหภูมิได้ 100 องศา หรือมากกว่า โดยจะทดสอบต้มในน้ำเดือด 10 นาที 3 ครั้ง และถ้าเจอความร้อนสูงๆต้องไม่ปล่อยสารปนเปื้อนโลหะหนักทั้งตะกั่วและแคดเมียมออกมา, ประเภทบรรจุอาหารเย็นต้องทนอุณหภูมิได้ 60 องศา ทดสอบอบที่ 70 องศา เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ต้องทนอุณหภูมิได้ ติดลบ 18 องศา ทดสอบแช่แข็งที่ติดลบ 20 องศา เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และต้องมีขนาดความหนา เขียนเมจิที่พลาสติกต้องไม่ทะลุเข้าไปปนเปื้อนอาหาร
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมี มอก.สำหรับถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหารประเภทต่างๆ เช่น มอก. 2568-2555 ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร : รูปตัวยู ซึ่งเป็นถุงหูหิ้วใส่สิ่งของไปใช้บรรจุอาหาร เช่น กล้วยแขก หรือปัจจุบันนำมาใส่เครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ, มอก. 2569-2555 ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร : แบบกดปิด หรือที่เรียกว่าถุงซิป ซึ่งใช้จัดเก็บอาหารก่อนปรุง เช่น เตรียมผัก เตรียมเนื้อสัตว์ที่หักเสร็จแล้วแยกใส่ไว้ในตู้เย็น เมื่อถึงเวลาเตรียมก็นำส่วนประกอบอาหารแต่ละอย่างออกจากตู้เย็นมาปรุงสุก, มอก. 1027-2553 ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำเป็นมาตรฐาน มอก.ภาคบังคับ เช่น นำเข้าการพิจารณาคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.), เปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน.