เล็งออกกฎหมายคุมเข้มพลุ-ประทัดใหญ่

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เล็งออกกฎหมายคุมเข้มพลุ-ประทัดใหญ่

Date Time: 4 พ.ย. 2562 05:30 น.

Summary

  • นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.กำลังพิจารณาออกกฎหมายมาควบคุมห้ามการจำหน่ายพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.กำลังพิจารณาออกกฎหมายมาควบคุมห้ามการจำหน่ายพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ที่เข้าข่ายว่าอาจทำให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะประทัดยักษ์และบอลไข่ไล่นก เพราะที่ผ่านมาช่วงเทศกาลลอยกระทงมักมีผู้บริโภคได้รับอุบัติเหตุจากการซื้อประทัดไปเล่นจนทำให้สูญเสียอวัยวะ พิการ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น เพื่อควบคุมให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้บริโภค สคบ.จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูล ซึ่งเร็วๆนี้จะได้ข้อสรุป

“การเล่นพลุประทัดในช่วงลอยกระทงทุกปี มักเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น นำประทัดยักษ์ หรือลูกบอลระเบิดไปจุดเล่นด้วยความคึกคะนอง ดังนั้น เพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ต้องมาดูข้อกฎหมายว่าจะคุมถึงขั้นห้ามขายเลยได้หรือไม่ ซึ่ง สคบ.ต้องไปดูข้อมูลของสินค้า หากเป็นประทัดยักษ์ ต้องมีลักษณะอย่างไร อัตราการระเบิดรุนแรงแค่ไหนที่เป็นอันตราย ข้อมูลพวกนี้ต้องไปกำหนดรายละเอียดขึ้นมาก่อน โดยส่งไปตรวจทดสอบ”

นายพิฆเนศ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการควบคุมสินค้าประเภทนี้ สคบ. ควบคุมเฉพาะเรื่องฉลากสินค้าเท่านั้น โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 36 พ.ศ.2556 เรื่องให้ดอกไม้เพลิงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้ผู้ที่จำหน่ายสินค้าหรือผู้ผลิตสินค้าต้องระบุข้อความแนะนำในการใช้ และคำเตือนไว้บนฉลากอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็น และนำไปใช้ได้ถูกวิธี โดยต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยคือ ผู้เล่นดอกไม้เพลิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ใหญ่ ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ไม่ควรเก็บรักษาไว้ในที่อุณหภูมิสูง ไม่ควรจุดไฟใหม่ หากจุดชนวนแล้วไม่ติด ควรเล่นในที่โล่งกว้าง ห่างไกลจากวัตถุไวไฟ รวมทั้งต้องมีคำเตือน ระบุว่า “อันตรายอาจถึงตายหรือพิการหากเล่นไม่ถูกวิธี หรือคึกคะนอง” เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ขายสินค้าไม่จัดทำฉลากหรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง จะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ผลิตหรือผู้สั่งหรือผู้นำเข้าสินค้ามาเพื่อขาย ไม่จัดทำฉลาก หรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ สคบ.ได้ทำหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ช่วยกวดขันการขายพลุและดอกไม้เพลิง รวมทั้งประสานกรมเจ้าท่าเข้าไป ดูแลท่าเรือต่างๆที่ผู้บริโภคจะใช้เป็นสถานที่ลอยกระทงด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ