ผู้นำ “อาร์เซ็ป” ออกแถลงการณ์ร่วม 4 พ.ย.นี้ ประกาศความสำเร็จ ย้ำสรุปได้หมด 20 บท ปิดฉากเจรจาที่ยาวนานถึง 7 ปี ก่อนนัดลงนามปี 63 ที่เวียดนาม กำหนด 10 ประเทศให้สัตยาบัน จึงจะมีผลใช้บังคับ ย้ำช่วยหนุนเศรษฐกิจสมาชิกเติบโต พร้อมมีกลไกปกป้องจุดอ่อนสมาชิก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักนายกรัฐมนตรีว่า วันที่ 4 พ.ย.นี้ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ที่อิมแพค เมืองทองธานี ผู้นำสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ และ 6 คู่เจรจาคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะร่วมกันประกาศความ สำเร็จของการเจรจา ซึ่งสามารถสรุปความตกลงได้หมด 20 ข้อบท ปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานถึง 7 ปี หรือเริ่มเจรจาตั้งแต่เดือน พ.ค.56 ถือเป็นความสำเร็จของสมาชิกที่นำเอาประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชีย ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และบางประเทศมีความขัดแย้งกันในบางเรื่อง มาอยู่รวมกันได้สำเร็จ โดยเฉพาะจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จากก่อนหน้านี้ที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พยายามทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน แต่ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ผู้นำได้มีมติให้คณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป (ทีเอ็นซี) ดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.ดำเนินการในเรื่องที่ยังคงค้างอีกเล็กน้อยในบางประเด็นให้จบภายในเดือน ก.พ.63 เช่น ภาคผนวกที่แนบกับความตกลงในข้อบทเรื่องการเปิดตลาดสินค้า การลงทุน และการเยียวยาทางการค้า เช่น การใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ที่บางประเทศเสนอให้มีออโต ทริกเกอร์ เซฟการ์ด หรือการขึ้นภาษีเซฟการ์ดกับสินค้านำเข้าจากประเทศสมาชิกในทันทีที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องเปิดไต่สวนว่า ส่งผลให้ผู้ผลิตภายในเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงทางธุรกิจหรือไม่ เช่น ส่วนแบ่งตลาดลดลง ยอดขาย-ยอดผลิตลดลง เป็นต้น
2.ให้ทีเอ็นซีขัดเกลาภาษาทางกฎหมายของความตกลงในทันทีที่ผู้นำอาร์เซ็ปประกาศความสำเร็จ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และ 3.ยืนยันให้ 16 ประเทศลงนามความตกลงในปี 63 ที่เวียดนาม ประธานอาเซียนต่อจากไทย หลังจากลงนามแล้ว แต่ละประเทศต้องดำเนินการให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง ส่วนไทยจะเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน ขณะที่การมีผลบังคับใช้ กำหนดให้หลังจากสมาชิก 10 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว แบ่งเป็นอาเซียนไม่น้อยกว่า 6 ประเทศ และคู่เจรจาไม่น้อยกว่า 4 ประเทศ
โดยหลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับ จะครอบคลุมมิติทางการค้าที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึง ไทย เช่น บทการค้าสินค้าที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเวลาที่เหมาะสม และลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี, บทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ที่จะส่งเสริมให้ตรวจปล่อยสินค้าอย่างสะดวก รวดเร็วมากขึ้น, บทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ที่จะส่งเสริมความปลอดภัยทางอาหาร มีการกีดกันน้อยที่สุด, บทมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ที่จะส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และธุรกรรมทางการค้า, บทเยียวยาทางการค้า ที่จะลดผลกระทบจากการเปิดเสรีที่เกินความคาดหมาย
นอกจากนี้ยังมีบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะส่งเสริมให้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสมาชิกและทั่วโลก ซึ่งจะทำให้อาร์เซ็ปเป็นความตกลง ที่ทันสมัย และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีกลไกป้องกันความอ่อนไหวของสมาชิกในทุกข้อบท ต่างจากความตกลง ที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพี–ทีพีพี) ที่ไม่มีกลไกปกป้องตนเอง สำหรับอาร์เซ็ปเป็นความตกลงขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 32.3% ของ จีดีพีโลก มีการค้ากว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญ หรือ 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก.