จีดีพีปีนี้กู่ไม่กลับเหลือโตแค่ 2.8% “อุตตม” เล็งอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่มถ้าจำเป็น

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จีดีพีปีนี้กู่ไม่กลับเหลือโตแค่ 2.8% “อุตตม” เล็งอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่มถ้าจำเป็น

Date Time: 29 ต.ค. 2562 06:15 น.

Summary

  • สศค.ลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% เหตุสงครามการค้าทำเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ และส่งออกไทยเดี้ยง ส่วนครึ่งปีหลัง คาดขยายตัว 3.1% หลังรัฐอัดมาตรการกระตุ้น ทำเงินลงสู่ระบบ 60,000 ล้านบาท

Latest

บาร์บีคิวพลาซ่า x วิตอะเดย์ เปลี่ยน “ผัก” ข้างเตาปิ้งย่าง ให้เป็น น้ำวิตามินกะหล่ำปลี

สศค.ลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% เหตุสงครามการค้าทำเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ และส่งออกไทยเดี้ยง ส่วนครึ่งปีหลัง คาดขยายตัว 3.1% หลังรัฐอัดมาตรการกระตุ้น ทำเงินลงสู่ระบบ 60,000 ล้านบาท “อุตตม” ยันเติบโต 2.8% น่าพอใจแล้ว ย้ำช่วงที่เหลือของปี ถ้าต้องออกมาตรการกระตุ้นอีก ก็พร้อมดำเนินการ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 62 เหลือ 2.8% จากเดิม 3% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่เติบโต 4.1% เพราะเศรษฐกิจคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และยังทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าไทยปีนี้เติบโตเพียง 2.5% จากเดิม 2.7%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ถึง 3.1% มากกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.6% เพราะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการ ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท เช่น โครงการชิม ช้อป ใช้ ระยะที่ 1 และ 2 ที่ขณะนี้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบแล้วกว่า 9,000 ล้านบาท, มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, มาตรการบรรเทาค่าครองชีพเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง, มาตรการประกันรายได้เกษตรกร, มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), มาตรการลดค่าธรรมเนียมการจดและจำนองให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเหลือ 0.01% เป็นต้น

“เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวลงจากปัจจัยภายนอกทำให้การเติบโตมีปัญหา ส่วนการที่สหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กระทบกับเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่มาก แต่จะกระทบกับการส่งออกไทยในปี 63 มากกว่า และกระทรวงพาณิชย์ยังมีเวลาอีก 6 เดือนในการเจรจา สิ่งที่ควรทำตอนนี้ คือรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทยในสหรัฐฯไว้ให้ดี”

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 63 สศค.มองว่าจะขยายตัว 3.3% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท และการลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ รวมทั้งคาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.62 และไตรมาส 3/62 มีสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกที่ลดลง เพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่ในด้านการผลิตกลับเพิ่มขึ้น โดยเดือน ก.ย.62 ภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศขยายตัว 10.1% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.61 สูงสุดในรอบ 15 เดือน จากนักท่องเที่ยวชาวจีนขยายตัว 31.6% และภาคการเกษตรขยายตัว 1.3%

ส่วนนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัว 2.9% ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และ 2 คาดว่าไตรมาส 4 จะขยายตัว 3.1-3.2% ส่งผลให้ตลอดปีนี้ เติบโตได้ 2.8% ถือว่าน่าพอใจ ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ชิม ช้อป ใช้ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าในช่วงที่เหลือของปีนี้จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอีก ก็พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม

ขณะที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 3/62 ว่า ดัชนีอยู่ที่ 44.9 เพิ่มจาก 42.4 ในไตรมาส 2/62 เพราะประชาชนปรับตัวให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ โดยระมัดระวังใช้จ่ายมากขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น และค่าจ้างทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรมสูงขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ