พาณิชย์เผยมูลค่าส่งออก ก.ย.ที่ผ่านมา ติดลบ 1.39% ลดลงในอัตราชะลอตัวหลังส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมพลิกเป็นบวก และตลาดจีนเติบโต 6.1% ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ ยังติดลบ 2.11% ยอมรับในปีนี้ อาจลบไม่ต่ำกว่า 1% แต่ปีหน้า การันตีเติบโต 1–2%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา การส่งออกมีมูลค่า 20,481 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 1.39% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2561 เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ลดลงถึง 4% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 626,011 ล้านบาท ลดลง 7.76% เมื่อหักมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำออกจะเหลือติดลบ 1.1% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,206 ล้านเหรียญฯ ลดลง 4.24% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 595,475 ล้านบาท ลดลง 10.33% ส่งผลให้มีดุลการค้าเกินดุล 1,275 ล้านเหรียญฯ หรือเกินดุล 30,535 ล้านบาท
“9 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 186,571 ล้านเหรียญ ลดลง 2.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 5.832 ล้านล้านบาท ลดลง 4.14% ส่วนการนำเข้ามูลค่า 179,190 ล้านเหรียญ ลดลง 3.68% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 5.684 ล้านล้านบาท ลดลง 5.57% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 7,381 ล้านเหรียญ หรือ 147,974 ล้านบาท”
สาเหตุที่มูลค่าส่งออกเดือน ก.ย. ลดลงในอัตราที่ชะลอตัว มาจากสินค้าหมวดอุตสาหกรรม มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.16% จากการเพิ่มขึ้นของทองคำ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ แม้ว่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 3.1% จากการลดลงของข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ฯลฯ
ขณะที่ตลาดส่งออกตลาดหลักๆกลับมาขยายตัว 1.3% จากการขยายตัวของสหรัฐฯ 7.8% ญี่ปุ่น 2.4% แต่สหภาพยุโรป (อียู) ลดลง 5.1% เพราะหลายประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเฉพาะเยอรมนี ที่ค้าขายกับจีนมาก ส่วนตลาดศักยภาพสูง ลดลง 5.1% จากการลดลงของซีแอลเอ็มอี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) 15.3% และเอเชียใต้ 12.5% แต่ตลาดจีนเพิ่มขึ้นถึง 6.1% ส่งผลให้การส่งออกในภาพรวมชะลอตัวลง และอาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 0.6% ขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรอง ลดลง 4.1% จากการส่งออกไปซีไอเอส (สมาชิกสหภาพโซเวียตเดิม) เป็นต้น
“ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน พบว่า เดือน ก.ย.มูลค่าส่งออกไทยกลับเพิ่มขึ้นได้ 331 ล้านเหรียญ เพราะการส่งออกสินค้าที่สหรัฐฯใช้มาตรการขึ้นภาษี เช่น แผงโซลาร์เซลล์ เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกเครื่องซักผ้ายังลดลง ส่วนสินค้าไทยที่ส่งออกไปทดแทนจีน ในตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่า 1,989 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 9.7%”
“มูลค่าส่งออกเดือน ก.ย.ที่ลดลงในอัตราชะลอตัว มาจากการส่งออกอุตสาหกรรมรายการสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ เพราะบางส่วนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย และความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยมีการส่งออกไปตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่า การส่งออกไตรมาส 4 ถ้ายังได้เฉลี่ยเดือนละ 20,821 ล้านเหรียญ ก็จะขยายตัวได้ 0.1% และทำให้ตลอดทั้งปีนี้มีโอกาสต่ำกว่า 0% แต่ติดลบไม่มากนัก ประมาณ 1% หรือมากกว่าลบ 1% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”
สำหรับปี 2563 คาดว่า มูลค่าส่งออกจะขยายตัว 1-2% เมื่อเทียบกับปีนี้ โดยหากมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับปีนี้ ก็อาจขยายตัวได้ 1.2% แต่ถ้าได้เฉลี่ยมากกว่า 21,500 ล้านเหรียญ อาจจะขยายตัว 1.5-1.6% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 2.7-3.2% ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 60-70 เหรียญ/บาร์เรล ค่าเงินบาท 30-31.5 บาท/เหรียญ.