ส.อ.ท.จับตาปัจจัยภายนอกสารพัดกดดันเศรษฐกิจโลกซึมยาว แถมบาทแข็งค่า ฉุดส่งออกไทยวูบต่อเนื่อง คาดทั้งปี 2562 ส่งออกติดลบ 2–3% จีดีพีโต 2.8% กังวลปัจจัย เหล่านี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปี 2563 หนุนรัฐอัดเงินกระตุ้น ศก.
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ติดตามปัจจัยภายนอกที่จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยภายในที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องคาดว่าจะกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทยทั้งปีนี้ ติดลบระดับ 2-3% จากขณะนี้ที่การส่งออก 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ติดลบ 2.2% อัตราการเติบโต ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จะอยู่ที่ 2.8% จากที่คาดไว้จะขยายตัว 3% สิ่งที่กังวลคือปัญหาเหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2563
“โค้งสุดท้าย 3 เดือนนี้ หากดูปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกแล้วก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนักจึงทำให้เศรษฐกิจโลกยังอยู่ภาวะ ถดถอยแต่สิ่งที่เอกชนกำลังกังวลคือ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในปี 2563”
สำหรับปัจจัยที่ ส.อ.ท.กำลังติดตามใกล้ชิด ได้แก่ ปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ ชะลอตัวที่มีผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ขณะเดียวกัน ยังคงต้องติดตามการออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปของอังกฤษที่อาจจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกซบเซามากขึ้น นอกจากนี้ ล่าสุดจากความไม่สงบของฮ่องกง ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบเมื่อใดก็ยังคงบั่นทอนให้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โลกมีมากขึ้นอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยภายในประเทศ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งขณะนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวระดับ 30.40-30.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ หากเทียบกับต้นปีนี้นับว่าแข็งค่าระดับ 6% แต่หากนับตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา อัตราแข็งค่าสูงถึง 20% เป็นการบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขัน การส่งออกของไทยที่คิดเป็น 70% ของจีดีพีซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกของไทย ในรูปค่าเงินบาทติดลบลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เงินบาทที่แข็งค่าอาจมีผล ให้การท่องเที่ยวไทยลดลงได้เช่นกัน เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น
นอกจากนี้ ตนเห็นว่ารัฐบาลจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น โครงการชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาลถือว่าเป็นมาตรการที่ดีในการกระตุ้น การใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลได้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ 4-5 รอบ แต่ข้อเท็จจริงโครงการดังกล่าวกลับหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพียง 1-2 รอบเท่านั้น เนื่องจากการซื้อสินค้ายังคงกระจุกตัวอยู่ในห้างขนาดใหญ่ยังลงไปยังชุมชนไม่มาก หากรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ หรือใช้ชิม ช้อป ใช้ ระยะที่ 2 จึงอยากให้มองในประเด็นนี้ให้มากขึ้น
“เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบโดยตรงแต่หากจะให้เห็นผลมากขึ้นต้องปรับให้มีการหมุนเวียนของเงินด้วยการให้ถึงชุมชนฐานรากมากขึ้น แต่กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงไทยเองก็น่าจะใช้จังหวะนี้ดึงท่องเที่ยวมาไทย”
ด้านนายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารได้สำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจ และนักลงทุน ในงานสัมมนาประจำปี จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกและการขาดปัจจัยกระตุ้นภายในทำให้ธุรกิจ และนักลงทุน มีมุมมองต่อการทำธุรกิจของตนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าแบบระมัดระวัง
“ประเด็นที่เป็นห่วงมากที่สุดคือสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หากมีความตึงเครียดมากขึ้น โดยครึ่งหนึ่งของผลสำรวจของเราบอกว่าได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้แล้ว ในขณะที่ 30% คิดว่ากำลังจะได้รับผลกระทบในไม่ช้า”
อย่างไรก็ตาม หากสงครามการค้ามีทางออกที่คลี่คลายจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่หากยังไม่มีทางออก ก็ไม่เห็นปัจจัยหรือมาตรการอื่นที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งหมายความว่านโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงิน ถูกมองว่าอาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนกังวลเป็นอย่างมาก.