พลังงานกดตัวเลข “เงินเฟ้อ”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พลังงานกดตัวเลข “เงินเฟ้อ”

Date Time: 2 ต.ค. 2562 08:55 น.

Summary

  • น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย.62

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย.62 ว่า เท่ากับ 102.90 เพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.62 และเพิ่มขึ้น 0.32% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.61 ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้า หรือเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.98% และ 0.52% ตามลำดับ ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง มาจากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหารสด 5.11% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 9.15% ผักสด เพิ่ม 8.35% ผลไม้สด เพิ่ม 5.74% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 2.79% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.63% แต่กลุ่มพลังงานลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยลดลง 6.39% ทำให้เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันลดลงถึง 9.91% เมื่อเทียบกับฐานปีก่อนที่ราคาสูง และแม้ปีนี้ราคาตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นจากเหตุถล่มโรงกลั่น แต่ราคาก็ยังต่ำกว่าปีก่อน

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เท่ากับ 102.70 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.62 และเพิ่มขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับ ก.ย.61 ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.54%

สำหรับราคาสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการนั้น ในเดือน ก.ย.62 เทียบกับเดือน ก.ย.61 พบว่า มีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น 226 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ มะนาว พริกสด กับข้าวสำเร็จรูป ค่าโดยสารรถประจำทาง และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 104 รายการ เช่น น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ น้ำมันพืช ส้มเขียวหวาน ผักกาดขาว นมผง เป็นต้น และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 92 รายการ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ว่า คาดว่าเดือน ต.ค.62 เงินเฟ้อจะยังคงลดลง เพราะราคาน้ำมันตลาดโลกเมื่อเดือน ต.ค.61 สูงที่สุดในรอบปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปีนี้ที่ราคาต่ำกว่า จึงไม่มีแรงกดดันให้เงินเฟ้อเดือน ต.ค.62 สูงขึ้น แม้จะได้รับผลดีจากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่เพิ่มการใช้จ่ายของประชาชน ส่วนเงินเฟ้อเดือน พ.ย.-ธ.ค.62 จะเริ่มสูงขึ้น และทำให้ไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวได้ 0.5-1.0% โดยเงินเฟ้อทั้งปีนี้ สนค.ประเมินว่าจะอยู่ที่ 0.7-1.0% ซึ่งเป็นการปรับลดเป้าเป็นครั้งที่ 3.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ