นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบและรับทราบความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเดือน ต.ค.นี้มี 3 โครงการที่ลงนามสัญญา คือ 1.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือเอฟ วงเงิน 54,000 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เงินลงทุน 290,000 ล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เงินลงทุน 117,226 ล้านบาท รวมกว่า 460,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่มีปัญหามากที่สุดคือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยที่ประชุมกำชับให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งส่งมอบที่ดินโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ดินของ รฟท.จะส่งมอบได้ 72% ภายใน 1 ปี แต่อีก 28% มีปัญหามากที่สุด จะส่งมอบได้ในอีก 1 ปีครึ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพลังงาน เพราะต้องย้ายท่อก๊าซความยาว 12 กิโลเมตร ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด, กระทรวงมหาดไทย ย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 จุด ยกเสาไฟฟ้าแรงสูง กำลังไฟ 500,000 โวลต์ 39 จุด และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน
“ปัญหาการก่อสร้างคือการส่งมอบที่ดิน ถ้า รฟท.มีแผนชัดเจนแล้ว และ กพอ.รับทราบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานแล้วจะทำให้การทำงานชัดเจนขึ้น เพราะ กพอ.มีผู้บริหารระดับสูงจากหลายหน่วยงาน เช่น ปตท. กระทรวงมหาดไทย ซึ่งพร้อมจะแก้ไขปัญหา จึงไม่น่ากังวล และวันที่ 15 ต.ค.นี้ กลุ่มกิจการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร (ซีพีเอช) พร้อมลงนามกับ รฟท.แล้ว”
ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังศาลปกครองพิพากษาให้ถอนฟ้องคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีไม่ผ่านการประเมินในซองที่ 2 และให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกมีคำสั่ง และให้มีผลต่อไปจนกว่ามีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดนั้น น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะจัดพิธีลงนามร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์-พีทีที แทงค์ ในฐานะผู้ชนะประมูล.