น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงโอกาสของไทยกรณีที่สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ จะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) แบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) ว่า การส่งออกของไทยจะได้รับผลดี เพราะอังกฤษจะยกเว้นภาษีนำเข้าในสินค้า 87% ของรายการสินค้าทั้งหมดแบบชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี แต่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว 26 กลุ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (เนื้อ แกะ หมู และสัตว์ปีก) และผลิตภัณฑ์ นม เนย ชีส ข้าว รถยนต์ สิ่งทอ เซรามิก เอทานอล กล้วย เป็นต้น
หากพิจารณาจากสินค้า 20 รายการแรกที่ไทยส่งออกไปอังกฤษ พบว่าผลกระทบแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 สินค้าที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้า จากเดิมเคยถูกเก็บภาษีนำเข้าไปยังอียู มูลค่า 962.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 23% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ กลุ่ม 2 คือสินค้าที่มีโอกาสผลักดันการส่งออก แม้ว่ายังคงภาษี นำเข้าในอัตราใกล้เคียงกับอียู และอยู่ภายใต้ระบบโควตาภาษี ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของอังกฤษ มูลค่า 1,282 ล้านเหรียญ สัดส่วน 31.86% เช่น เนื้อสัตว์ (ไก่แปรรูปปรุงสุก) ยานพาหนะเพื่อการขนส่งสินค้า รถจักรยานยนต์ กลุ่ม 3 สินค้าที่ไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะภาษีนำเข้าเป็น 0% มูลค่า 238 ล้านเหรียญ สัดส่วน 5.93% เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องโทรศัพท์.