“พิพัฒน์” เล็งของบกระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่มอีก 15,000 ล้านบาท ขณะที่รอลุ้น ครม.เศรษฐกิจเคาะแจกเงินคนไทย 10 ล้านคนเที่ยวไทยว่าจะเป็น 1,000 บาท หรือ 1500 บางต่อคน ด้าน “อุตตม” คุยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุน เวียนในระบบกว่า 100,000 ล้านบาท เน้นกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านภาคการเกษตร–ท่องเที่ยว–เอสเอ็มอี ชี้ถ้าฟื้น “ช็อปช่วยชาติ” รูปแบบอาจไม่เหมือนเดิม ขณะที่นักลงทุน “สหรัฐ-อเมริกา–อาเซียน” ยังเชื่อมั่นไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ จะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว โดยแจกเงินผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป นำไปใช้ในการท่องเที่ยว ซึ่งจะได้พิจารณาให้ชัดว่าจะให้คนละ 1,000 บาท หรือ 1,500 บาท ซึ่งถือเป็นมาตรการหลัก มีเงื่อนไขคือต้องใช้เงินเที่ยวในพื้นที่ที่ไม่ใช่ภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ โดยเมื่อมีมติอนุมัติออกมาแล้วจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมาใช้สิทธิ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินได้หลายรอบมากขึ้น และกว้างขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้เตรียมมาตรการเสริมอีก โดยจะขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณเพิ่มให้อีก 15,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 3 มาตรการที่จะเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยได้เตรียมเอกสารเสนอเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 20 ส.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงปลายปี หรือ 4 เดือนสุดท้ายของปี คือเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้สรุปชัดเจนแล้ว 1 มาตรการ คือ มาตรการสินค้าท่องเที่ยวทุกอย่าง และทุกสถานที่ในราคา 100 บาท ในทุกวันที่ 9 เดือน 9, วันที่ 10 เดือน 10, วันที่ 11 เดือน 11 และวันที่ 12 เดือน 12 ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ โรงแรม ตั๋วการบิน กินอาหาร เพื่อมาร่วมทำโปรโมชัน สินค้าท่องเที่ยว 100 บาททุกอย่างด้วย โดยการซื้อหรือเข้าร่วมกิจการจะซื้อผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย และกำลังพิจารณาว่าจะขยายเพิ่มช่องทางการร่วมโครงการกับแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ด้วย
ส่วนมาตรการที่ 2 จะเป็นโครงการลดราคาสินค้าแบบให้ส่วนลดเพิ่มหรือออนท็อป 15% จากราคาสินค้าที่ลดอยู่แล้ว เช่น โรงแรมมีการลดค่าห้องลง 50% มาตรการนี้จะให้ส่วนลดเพิ่มอีก 15% รวมเป็นลดให้ 65% ซึ่งมาตรการนี้ยังไม่สรุปในรายละเอียด แต่ทั้งมาตรการที่ 2 และมาตรการที่ 3 จะเป็นมาตรการคล้ายกันคือ การลด แลก แจก แถม เพื่อจูงใจให้มีการใช้จ่ายเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังที่จะเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจนั้น ทุกมาตรการที่ออกมาจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน โดยคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แต่งบประมาณที่จะใช้นั้นจะมีวงเงินไม่ถึง 100,000 ล้านบาท
โดยเป็นเงินจากงบกลางปี และเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเน้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูก 2.มาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยการดูแลสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลาง (SME) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และ 3.มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว แจกเงินคนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป้าหมาย 10 ล้านคน โดยอุดหนุนเงินให้นำไปท่องเที่ยวคนละ 1,500 บาท วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยไม่จำกัดว่าจะต้องท่องเที่ยวเฉพาะเมืองรองเท่านั้น
“มาตรการทั้งหมดที่ออกมาจะต้องใช้เงินภายในปีนี้ เพื่อดูแลเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี ทำให้คนกล้าลงทุนและทำให้นักลงทุนเห็นว่าไทยเดินหน้าต่อไปได้ โดยขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังได้รับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกและมีแนวโน้มถดถอย ดังนั้นไทยต้องไม่ประมาทต้องเตรียมตัวไว้ เพราะถ้าการส่งออกไม่ดีเศรษฐกิจจะซบเซา”
อย่างไรก็ตามถามถึงเรื่องช็อปช่วยชาติที่เคยให้ซื้อของและนำมาลดหย่อนภาษี 15,000 บาท จะนำมาใช้ใหม่หรือไม่นั้น นายอุตตม กล่าวว่าถ้าจะมีช็อปช่วยชาติอีกครั้งรูปแบบจะไม่เหมือนเดิม แต่ในตอนนี้ยังตอบเรื่องรูปแบบอะไรไม่ได้ ขอให้ผ่าน ครม.เศรษฐกิจก่อน ซึ่งมาตรการที่ออกมาจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแน่นอน
ส่วนกรณีสมาคมสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียนเข้ามาพบนั้น นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจหลังจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ และพร้อมลงทุนในไทยเพิ่มในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี และการเงินดิจิทัล “นักลงทุนได้ถามผมว่าทิศทางนโยบายรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ซึ่งผมได้บอกไปว่า รัฐบาลใหม่พร้อมปฏิรูปปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของไทย ยกตัวอย่าง โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลจะพัฒนาดิจิทัล เพื่อให้เข้าถึงระบบฐานรากของประเทศ
ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การต่อยอดระบบการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Playment เป็นต้น”.