รมว.อุตสาหกรรม บุก ธปท.หารือบาทแข็ง ระบุ ธปท.ได้ดูแลค่าบาทระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งจะช่วยอีกแรง โดยหนุนเอกชนใช้เงินคู่ค้าชำระค่าสินค้า-ประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สั่งบีโอไอเพิ่มสิทธิประโยชน์หนุนนำเข้าเครื่องจักรลดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ผู้ว่า ธปท.เห็นด้วยตั้งกรรมการรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวนด้านตลาดหุ้นไทยรับพิษเศรษฐกิจ-การเมืองโลกป่วนดิ่งแรงกว่า 30 จุด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหาร ธปท.เพื่อหารือถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ว่า หลังจากหารือกันรู้สึกสบายใจขึ้นที่ทาง ธปท.ได้ยืนยันว่าได้เข้าไปดูแลลดการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อลดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และมีมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ออกไปแล้ว แต่ การแทรกแซงของ ธปท.คงต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ถูกจับตาว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator)
“จากที่ ธปท.ได้รายงาน นอกเหนือจากปัจจัยที่มีเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเพื่อพักเงินในไทย เพราะเห็นว่าค่าเงินบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแล้ว อีกประเด็นที่สำคัญคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีประเทศไทยเกินดุลมากกว่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้ได้แจ้งว่า หากมาตรการในฝั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มได้จะช่วยดำเนินการ”
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังช่วยเหลือให้เงินประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกับภาคเอกชนประมาณแห่งละ 30,000 บาทอยู่แล้ว ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เพิ่มเติม เพราะจะช่วยได้ในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวน ขณะเดียวกัน ยังจะช่วยส่งเสริมการใช้เงินบาท หรือเงินประเทศคู่ค้าในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เพื่อความเสี่ยงที่เงินสกุลหลักมีความผันผวนสูง ซึ่งจะช่วยในเรื่องราคาสินค้าได้ในระดับหนึ่ง
“นอกจากนั้น ในวาระที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมาประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรมในวันนี้ (14 ส.ค.) จะเสนอมาตรการให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับภาคเอกชนที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักร หรือขยายการลงทุนที่มีการนำเครื่องจักรมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และช่วยลดแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ รวมทั้ง มาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในต่างจังหวัด ซึ่งมีปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนรายใหญ่ๆ ที่เข้าไปแข่งขันในธุรกิจเดียวกันจังหวัดได้ ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการส่งเสริมไว้แล้ว”
ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยว่า ธปท.พร้อมสนับสนุนการที่ภาครัฐมีนโยบายจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อติดตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อรับมือสงครามการค้าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะต้องมาจากหลายๆ มิติ
“การตั้งคณะกรรมการเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มาตรการต่างๆในการรับมือจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลกสามารถทำงานได้อย่างชัดเจน และอยู่บนความเข้าใจที่ตรงกัน แต่กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะเหมือนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องหารือกันในหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ในส่วนของการรับมือมาตรการกีดกันทางการค้า และการดูแลผลกระทบจากต่างประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งในด้านการเงิน ทั้งมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคลัง รวมทั้งมาตรการทางการเงิน”
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทุนในตลาด หุ้นไทยวันที่ 13 ส.ค.ว่าดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน. ก่อนมาปิดตลาดที่ระดับ 1,620.23 จุด ลดลง 30.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 64,186.02 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,395.21 ล้านบาท โดยตลาดหุ้นไทยดิ่งลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศจากความเสี่ยงที่มะรุมมะตุ้มรอบด้าน โดยเฉพาะการประท้วงในฮ่องกงที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราช อาณาจักร (Brexit) และโอกาสเกิดการเลือกตั้งในอิตาลีเร็วกว่ากำหนด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยความไม่แน่นอนที่จะมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเหล่านี้ ขณะที่นักลงทุนยังคงต้องอยู่ความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กดดันบรรยากาศการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง.