เงินหยวนอ่อน สัญญาณสงครามการค้าปะทุ เอสเอ็มอีไทยส่อเจ๊ง คนตกงานเพียบ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เงินหยวนอ่อน สัญญาณสงครามการค้าปะทุ เอสเอ็มอีไทยส่อเจ๊ง คนตกงานเพียบ

Date Time: 7 ส.ค. 2562 11:58 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ทางการไทยต้องเตรียมรับมือสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน จากท่าทีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มปรากฏชัดว่าไม่ได้หยุดแค่สงครามการค้าเท่านั้น แต่กำลังดึงภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจเข้ามาในเกมนี้

Latest


ทางการไทยต้องเตรียมรับมือสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน จากท่าทีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มปรากฏชัดว่าไม่ได้หยุดแค่สงครามการค้าเท่านั้น แต่กำลังดึงภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจเข้ามาในเกมนี้

จุดพลิกผันใหม่ได้เริ่มขึ้นเมื่อสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งล่าสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลให้ทางการจีนออกมาตอบโต้ด้วยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงมาอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเป็นระดับที่สำคัญทางจิตวิทยา เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าทางการจีนพร้อมที่จะตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยการลดค่าเงิน ซึ่งการปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า ส่งผลให้ในที่สุดจีนก็เข้าข่ายประเทศที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน ตามข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ นำมาซึ่งความชอบธรรมให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าเพื่อปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 301 และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ได้เข้มข้นขึ้นอีก

จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวน จะส่งผลให้ค่าเงินทั้งภูมิภาคอ่อนค่าตามไปด้วย ยกเว้นบางสกุลเงิน เช่น เงินบาท ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับสกุลเงินอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยทางด้านเสถียรภาพภายนอก ที่ส่งผลให้ไทยถูกมองเป็นแหล่งลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลกจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนตามไปด้วย ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจทำได้เพียงออกมาตรการประคับประคองไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากจนเกินไป แต่คงไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้ และคงต้องปล่อยให้ทิศทางค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาด

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเปลี่ยนจุดยืนนโยบายทางการเงินไปในทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องของค่าเงิน นอกจากนี้การดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านทางดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ส่งผ่านไปยังอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าใดนัก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทถูกขับเคลื่อนด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ฐานะดุลการค้าของไทยยังมีแนวโน้มที่จะเกินดุลอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อไป

ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยนับตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่าไปแล้วกว่า 5% (YTD) เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลกนั้นลดลง และส่งผลให้การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงอยู่แล้วนั้น และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวไปมากกว่าเดิม เป็นปัจจัยฉุดรั้งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะงักงัน

นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ยกระดับการขึ้นภาษีสินค้าจีนลอต 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ อีกเป็น 25% ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลกระทบที่จะเกิดกับการส่งออกของไทยจะขยับขึ้นใกล้เคียงกรอบบนของประมาณการที่ 3.1 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 จากมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นภาครัฐบาลไทยทุกภาคส่วนคงต้องเร่งพิจารณามาตรการเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย อาจทำได้จำกัดในระยะข้างหน้า เนื่องจาก ธปท.ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอีกด้วย ท่ามกลางการก่อหนี้ของภาคเอกชนที่สูงขึ้น

อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินมีจำกัด ขณะที่นโยบายการคลังยังพอมีช่องทางเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่ส่งตรงต่อภาคธุรกิจของไทย ซึ่งมีช่องว่างให้พิจารณานำมาใช้มากขึ้นทั้งการปรับลดภาษีภาคธุรกิจ และการเร่งรัดคืนภาษีส่งออก เป็นต้น โดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ขณะที่ในที่สุดแล้วความอยู่รอดของธุรกิจคงจะยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแต่ละรายเป็นหลัก ดังนั้นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสี่ยงอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการเหล่านี้ โดยการดำเนินการให้ความช่วยเหลือภาคส่งออกด้วยมาตรการด้านการคลังดังกล่าว มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ในด้านความไม่เท่าเทียมและการกระจายรายได้ ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ

“การชะลอตัวของการส่งออก อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปในวงกว้างได้ ทั้งต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน ทำให้รัฐบาลคงจะต้องเร่งชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเลือกใช้มาตรการ เพื่อช่วยให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นสงครามการค้าที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสงครามค่าเงินนี้ไปได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ