หวั่น “เศรษฐกิจไทย” ถูกกระทบหนัก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หวั่น “เศรษฐกิจไทย” ถูกกระทบหนัก

Date Time: 7 ส.ค. 2562 08:33 น.

Summary

  • “สมคิด” ห่วงสงครามการค้าขยายวงสู่สงครามค่าเงิน ถก ครม.วางแผนรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน หลังหยวนอ่อนค่าจาก 5 บาทเป็น 7 บาทต่อ 1 หยวน ชี้กระทบเศรษฐกิจไทยแน่นอน

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

“สมคิด” ถก ครม.รับมือสงครามการค้าลามค่าเงิน

“สมคิด” ห่วงสงครามการค้าขยายวงสู่สงครามค่าเงิน ถก ครม.วางแผนรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน หลังหยวนอ่อนค่าจาก 5 บาทเป็น 7 บาทต่อ 1 หยวน ชี้กระทบเศรษฐกิจไทยแน่นอน สั่งคลัง-ธปท.-ตลาดหุ้นจับตาเงินทุนเคลื่อนย้าย-ค่าบาทใกล้ชิด ขณะที่ “กอบศักดิ์” ระบุ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะเสนอ ครม.เดือนนี้ เน้น 3 เรื่อง การลงทุน-เอสเอ็มอี-ท่องเที่ยว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งล่าสุดค่าเงินหยวนของจีน อ่อนค่าลงถึง 7 บาทต่อ 1 หยวนว่า สัญญาณเศรษฐกิจขณะนี้ เริ่มมีปัญญาหลายอย่าง เช่น การปรับตัวลดลง
ของดัชนีดาวโจนส์อย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งสืบเนื่องมาจากความกังวลที่เห็นค่าเงินหยวนอ่อนอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง (Real Sector) แต่ในครั้งนี้ ความขัดแย้งมาถึงการใช้ค่าเงินเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในด้านการค้า ทำให้ประเทศไทยต้องจับตาอย่าง ใกล้ชิด เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯจำนวนมาก

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ในช่วง 7 เดือน ที่ผ่านมา ขอถือว่าผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ไตรมาส 3—4 ที่เหลือในปีนี้จะทำอย่างไร ซึ่งล่าสุด ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคลัง ให้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกฝ่ายอุ่นใจในการบริหารงานเศรษฐกิจ

“สถานการณ์ตอนนี้ ยังเชื่อว่าไม่ถึงขั้นวิกฤติของสงครามค่าเงิน แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องเน้นสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยยืนยันว่า การทำงานไม่มีปัญหาแน่นอน ซึ่งใน ครม.ได้พูดคุยกันถึงปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยรัฐมนตรีทุกท่านพร้อมที่จะร่วมมือกันทำงาน”

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ประชุมฯ ได้มีการหารือในเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยนายสมคิด รองนายกรัฐมนตรีได้รายงานให้ ครม.รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้าและเหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกง ซึ่งกระทบกับดัชนีตลาดหุ้น และค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลทำงานร่วมกันในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง นางนฤมลกล่าวว่า วันนี้ (6 ส.ค.) นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการมอบหมาย หรือสั่งการให้เป็นพิเศษ แต่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ และได้แสดงความเป็นห่วงผ่านการหารือกับนายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ได้เดินทางมาเยือนไทยสัปดาห์ก่อน ซึ่งนายกฯได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาถึงการลดผลกระทบของประเทศที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งในสงครามการค้า แต่ได้รับผลกระทบว่า จะสามารถให้การช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตนได้เตรียมตัวที่จะหารืออย่างใกล้ชิดกับ ธปท.ตลท.และภาคอุตสาหกรรม เพื่อรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนในเรื่องของนโยบายการเงิน หรือ ดอกเบี้ยนโยบาย ตนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรได้ แต่หวังว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากเดิม 5 บาทต่อ 1 หยวน มาเป็น 7 บาทต่อ 1 หยวน หมายความว่า จีนส่งของมาขายจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงประมาณ 2 บาท หรือคิดเป็น 13—14% นับว่าสูงมาก ขณะที่เงินบาทแข็งค่า จาก 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็น 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าเพิ่มขึ้น 5—7% ซึ่งเท่ากับว่า ค่าเงินที่ผันผวนในขณะนี้ มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทประมาณ 20% ดังนั้น ทุกคนกำลังจับตามองว่า การที่จีนใช้การปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจะเป็นการเพิ่มรายได้จากการส่งออกให้กับตนเอง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ค่าเงินแข็งค่า ทำให้จีนได้เปรียบทางการค้า ดังนั้น เราจึงต้องพยายามเข้ามาดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมาตรการที่กระทรวงการคลังจะเสนอในเดือน ส.ค.นี้ จะเน้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักโดยมี 3 เรื่องที่สำคัญได้แก่ เรื่องของการลงทุน การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ท่องเที่ยว

“เรื่องของสงครามการค้าจะช่วยให้เพิ่มโอกาส การย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งมีญี่ปุ่น จีน รวมทั้งสหรัฐฯ ก็สนใจย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะตั้งทีมขึ้นมาในชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจคาดว่าจะประชุมนัดแรกวันที่ 19 ส.ค.นี้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ