นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ขยายระยะเวลาให้โรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง แจ้งราคาซื้อขายยาในกลุ่มบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ (UCEP) และรายการยาที่มีการจำหน่ายสูงสุด 100 รายการแรก รวมทั้งหมด 3,992 รายการ มายังกรม เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.62 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค.62 หลังจากที่ได้ปรับปรุงรายการสินค้าและบริการในบัญชีสินค้าและบริการควบคุมใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 2 ก.ค.62 ล่าสุดโรงพยาบาลเอกชนได้จัดส่งราคาซื้อขายยามาให้แล้ว 20 โรงพยาบาล
นอกจากนี้ กรมยังได้ขยายระยะเวลาการให้โรงพยาบาลเอกชนติด QR Code ยาแต่ละชนิดไว้ให้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยตรวจสอบได้มาเป็นวันที่ 15 ส.ค.นี้ จากเดิมกำหนดวันที่ 29 ก.ค.นี้ โดย QR Code ดังกล่าว กรมจะส่งไปให้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง ภายหลังจากที่กรมได้ราคาซื้อและขายยาแต่ละชนิดจากโรงพยาบาลแล้ว และนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์กรม รวมถึงทำเป็น QR Code ส่งมาให้โรงพยาบาล ซึ่ง QR Code ยาแต่ละชนิด จะมีรายละเอียดราคาของทุกโรงพยาบาล ทำให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบราคายาชนิดเดียวกันที่ขายในโรงพยาบาลทุกแห่งได้
“ราคายาที่โรงพยาบาลเอกชนส่งมาให้ กรมจะถือว่าเป็นราคาซื้อขายที่ผูกมัดโรงพยาบาลว่าจะต้องขายให้กับผู้ป่วยในราคานี้ หากผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการแล้วพบว่าคิดแพงกว่านี้หรือคิดราคาไม่ตรงตามที่แจ้งเอาไว้ โรงพยาบาลจะมีความผิด หรือกรณีที่มีการปรับขึ้นราคาต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคามายังกรมก่อนขึ้นราคาใน 15 วัน แล้วกรมจะนำไปปรับปรุงในบัญชีราคายาที่อยู่ในเว็บไซต์ให้เป็นปัจจุบันต่อไป”
อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลเอกชนไม่ติด QR Code เพื่อแสดงราคาขายยา จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 2,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
นายวิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีประชาชนร้องเรียนเรื่องราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีกว่า 10 ราย ซึ่งบางกรณีกรมได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว และบางกรณีกำลังตรวจสอบว่าคิดราคาแพงจริงหรือไม่ ถ้าพบว่ามีการคิดราคาแพงเกินจริงจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.